กฎระเบียบสำหรับธรรมบริกร

แปลจากคำบรรยายเรื่อง คุณค่าของการเป็นธรรมบริกร ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

ขอให้เข้าใจว่า ในขณะที่ท่านให้บริการ ท่านก็ได้ฝึกนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ใช่การหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ที่จะใช้ธรรมะในการช่วยเหลือผู้เข้ารับการอบรมและในสถานการณ์ต่างๆ ในโลกเล็กๆของศูนย์ปฏิบัติธรรมนี้ ก็จะเป็นการฝึกให้ท่านปฏิบัติเช่นเดียวกันกับผู้อื่นในโลกภายนอก ในการรับใช้ของท่านไม่ว่าจะมีเรื่องใดที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น ท่านก็จะได้ฝึกรักษาอุเบกขาแห่งจิต และสร้างความรักความเมตตาให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง นี่คือสิ่งที่ท่านจะเรียนรู้ เพราะท่านก็คือผู้ที่กำลังฝึกปฏิบัติคนหนึ่งเช่นเดียวกันกับผู้เข้ารับการอบรมคนอื่นๆ

จงพยายามเรียนรู้ในระหว่างที่รับใช้ผู้อื่นด้วยความถ่อมตน จงระลึกอยู่เสมอว่า "เรามาเพื่อฝึกรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เรากำลังทำงานเพื่อให้ผู้อื่นได้รับธรรมะ เราจะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้รับการอบรมซึ่งก็เป็นการฝึกตัวเราเองเช่นกัน"

ขอให้ธรรมบริกรทุกท่านจงเจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป ขอให้ท่านจงฝึกสร้างความรักความเมตตา ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ขอให้ท่านทั้งหลายจงก้าวหน้าในธรรม ได้พบกับความสงบอันแท้จริง มิตรไมตรีอันแท้จริง ความสุขอย่างแท้จริง

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

เพื่อให้ท่านได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับใช้ธรรมะ เราประสงค์ให้ท่านอ่านข้อมูลดังต่อไปนี้อย่างละเอียดก่อนเริ่มการอบรม

การรับใช้ธรรมะเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

การรับใช้ธรรมะเพื่อประโยชน์ผู้อื่นเป็นหัวใจของเส้นทางธรรมะ เป็นย่างก้าวสำคัญสู่การหลุดพ้น   การปฏิบัติวิปัสสนาจะค่อยๆขจัดความไม่บริสุทธิ์ของจิตจนเกิดความสงบสุขในใจ  ในช่วงแรกๆความทุกข์ที่ลดงอาจจะเล็กน้อย แต่ก็ยังนำมาซึ่งความซาบซึ้งที่ได้รับคำสอนธรรมะอันประเสริฐ  ด้วยความรักความกรุณาที่เกิดขึ้นจึงปรารถนาที่จะช่วยผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย   การรับใช้ธรรมะโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นโอกาสแสดงความกตัญญูต่อคำสอนโดยการช่วยเหลือให้ผู้อื่นได้รับธรรมะ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาบารมีทั้งสิบของตัวเองและลดอัตตา

คุณสมบัติของผู้รับใช้ธรรมะ

ผู้ปฏิบัติที่ผ่านการอบรมหลักสูตร 10 วันตามแนวทางท่านอาจารย์โกเอ็นกาอย่างสมบูรณ์และไม่ปฏิบัติแนวทางอื่นหลังจากผ่านการอบรมครั้งล่าสุดสามารถเป็นผู้รับใช้ธรรมะได้ และควรปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน

ข้อปฏิบัติของผู้รับใช้ธรรมะ

เว้นแต่ถ้ามีการระบุไว้เป็นอย่างอื่น กฎระเบียบต่างๆที่ได้ถูกกำหนดไว้เมื่อมีการอบรม ธรรมบริกรก็ควรจะปฏิบัติตามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี อาจได้รับอนุญาตให้มีการผ่อนปรนตามความจำเป็น

ศีล 5

ศีลห้า เป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรม ซึ่งได้แก่: 1. ไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด 2. ไม่ลักทรัพย์   3. ประพฤติพรหมจรรย์ (โดยในบริเวณศูนย์ฯจะต้องงดเว้นพฤติกรรมทางเพศทั้งหมด) 4. ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ   5. ไม่เสพของมึนเมา

ศีลห้า เป็นข้อปฏิบัติที่ทุกคนในศูนย์ปฏิบัติธรรมจะต้องรักษาอย่างเคร่งครัด และหวังว่าธรรมบริกรทุกท่านจะยังพยายามรักษาศีลห้าอย่างจริงจังในชีวิตประจำวันด้วย

การยอมรับคำแนะนำ

ธรรมบริกรควรปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์และอาจารย์ผู้ช่วยสอน รวมทั้งฝ่ายจัดการและคณะกรรมการศูนย์ ธรรมบริกรควรน้อมรับคำแนะนำของผู้มีอาวุโสกว่าในด้านการปฎิบัติหรือการรับใช้ธรรมะ การเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ถูกกำหนดไว้ หรือริเริ่มวิธีใหม่โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือขัดต่อกฎระเบียบที่กำหนดไว้โดยผู้ที่รับผิดชอบ จะทำให้เกิดความสับสน ความซ้ำซ้อนของการทำงาน ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาและทรัพยากร การยืนกรานที่จะทำงานอย่างเป็นอิสระจากข้อกำหนด จะขัดแย้งกับแนวทางและบรรยากาศของความร่วมมือและความสอดคล้องกลมเกลียวของธรรมะ  การปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้ธรรมบิรกรฝึกละความชอบความชังต่างๆ และทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้เข้าอบรม และเพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความสามัคีในศูนย์ เมื่อมีปัญหาควรแก้ไขอย่างเปิดใจและอ่อนน้อม การเสนอความคิดเห็นในเชิงบวกมีค่าเสมอ

การให้ความสำคัญแก่ผู้เข้าอบรม

ในทุกๆ สถานการณ์ธรรมบริกรควรคำนึงถึงความสะดวกสบาย และสวัสดิภาพของผู้เข้ารับการอบรม เพราะศูนย์ฯและหลักสูตรต่างๆมีไว้เพื่อสอนธรรมะแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม ดังนั้นผู้เข้ารับการอบรมจึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด และเป็นผู้ที่กำลังทำงานที่สำคัญที่สุด หน้าที่ของธรรมบริกรคือการช่วยเหลือผู้เข้าอบรมในทุกๆ ด้านเท่าที่จะช่วยได้ ผู้เข้ารับการอบรมจึงควรได้ที่พักก่อน ควรได้อาหารก่อน ธรรมบริกรควรรอให้ผู้เข้ารับการอบรมทุกคนได้รับประทานอาหารก่อนที่จะรับประทานเอง (นอกจากกรณีที่งานเร่งด่วน) และไม่ควรนั่งร่วมกับผู้เข้าอบรมในห้องอาหาร ไม่ควรอาบน้ำหรือซักผ้าในขณะที่ผู้เข้ารับการอบรมกำลังทำสิ่งเหล่านั้นอยู่ ไม่ควรเข้านอนก่อนผู้เข้ารับการอบรม เพราะอาจมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ การใช้สถานที่หรือของใช้อื่นๆ ก็ควรให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ใช้ก่อน ธรรมบริกรควรหลีกเลี่ยงการ่รบกวนผู้เข้ารับการอบรมในทุกกรณี

การปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการอบรม

การติดต่อโดยตรงกับผู้เข้ารับการอบรม ควรเป็นหน้าที่ของผู้จัดการหลักสูตรเท่านั้น โดยผู้จัดการฝ่ายหญิงเป็นผู้ติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมหญิง, ผู้จัดการฝ่ายชายติดต่อกับผู้เข้ารับการอบรมชาย โดยต้องดูแลให้ผู้เข้ารับการอบรมทำตามกฎระเบียบและตารางเวลา และอาจจำเป็นต้องพูดกับผู้ที่ฝ่าฝืนระเบียบ ซึ่งหน้าที่นี้ควรปฏิบัติด้วยความอ่อนโยน เป็นมิตร ด้วยความปรารถนาให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถผ่านพ้นความยากลำบากต่างๆไปได้ ควรระมัดระวังในการใช้คำพูดให้เหมาะสม ไม่ควรใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือหยาบคาย ทุกครั้งที่มีการฝ่าฝืนระเบียบ ควรถามถึงสาเหตุไม่ควรสรุปเอาจากสิ่งที่เห็น

ธรรมบริกรทุกคนควรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุภาพอ่อนน้อม และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้เข้ารับการอบรมร้องขอ โดยควรถามชื่อผู้เข้าอบรมไว้ด้วยทุกครั้ง ธรรมบริกรควรแนะนำให้ผู้เข้าอบรมไปหาอาจารย์หรือผู้จัดการหลักสูตรตามความเหมาะสม ควรใช้คำพูดที่กระชับ และรบกวนผู้เข้าอบรมให้น้อยที่สุด เมื่อผู้เข้าอบรมถามเกี่ยวกับการปฏิบัติ ท่านไม่ควรตอบ แต่ควรแนะนำให้ถามอาจารย์ และควรแจ้งให้อาจารย์ทราบทุกครั้งที่มีการติดต่อกับผู้เข้าอบรม ท่านไม่ควรนำเรื่องส่วนตัวของผู้เข้ารับการอบรมไปเล่าให้ธรรมบริกรท่านอื่น หรือเปิดเผยให้ผู้อื่นฟังโดยไม่จำเป็น ทั้งในครัวหรือที่อื่นๆ

การปฎิบัติวิปัสสนาของธรรมบริกร

ธรรมบริกรควรรับใช้ธรรมะอย่างมีสติ ไม่เสียเวลา และฝึกตนเองให้ใส่ใจกับงานที่กำลังทำอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิบัติวิปัสสนาไปด้วยอย่างน้อยสามชั่วโมงต่อวัน ดีที่สุดคือในชั่วโมงอธิษฐาน   เวลา 8:00 น. 14:30 น. และ 18:00 น. นอกจากนี้ทุกคืนก่อนการประชุมธรรมบริกรกับอาจารย์ผู้ช่วยสอนจะเป็นช่วงปฏิบัติสั้นๆเวลา 21:00 น. ที่มีความสำคัญสำหรับธรรมบริกร   ตลอดการอบรมธรรมบริกรควรปฏิบัติวิปัสสนาและปฏิบัติอานาปานสติเมื่อจำเป็น ในชั่วโมงอธิษฐานธรรมบริกรสามารถเปลี่ยนท่านั่งได้

ธรรมบริกรมีหน้าที่สังเกตตนเองทุกขณะและควรฝึกอุเบกขาในทุกสถานการณ์และระมัดระวังเรื่องอารมณ์ตนเอง  ถ้าไม่สามารถทำได้เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยหรือเหตผลอื่นใดก็ตาม ธรรมบริกรควรปฏิบัติหรือพักผ่อนให้มากขึ้น ไม่ว่าขณะนั้นงานจะเร่งรีบเพียงใด  ไม่ควรคิดเองว่างานจะขาดตนไม่ได้  หากพื้นฐานของจิตไม่คิดในแง่ดี งานที่ทำเสร็จลุล่วงก็จะไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง  ธรรมบริกรหรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ศูนย์ระยะยาวจะต้องเข้าอบรมเป็นผู้ปฏิบัติในหลักสูตร 10 วันเป็นระยะๆ ไม่คาดหวังจะได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ อันเนื่องมาจากการช่วยงานศูนย์ฯเป็นประจำ

การเข้าพบอาจารย์

ธรรมบริกรควรปรึกษาอาจารย์เมื่อมีปัญหาหรือพบอุปสรรค เวลาที่เหมาะสมที่จะสอบถามปัญหาการทำงานคือ เวลาค่ำหลังช่วงปฏิบัติเมตตาของธรรมบริกร (หลัง 21.00 น.) นอกจากนี้ยังสามารถนัดเวลาเพื่อปรึกษาเรื่องการฏิบัติเป็นการส่วนตัวได้ ถ้าอาจารย์ไม่สะดวก ธรรมบริกรควรปรึกษากับผู้จัดการศูนย์ผู้ซึ่งจะไดันำเรื่องไปสู่อาจารย์

การแยกชาย-หญิง

ธรรมบริกรชาย-หญิง ควรแยกกันตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ศูนย์ ทั้งในขณะที่มีการอบรมและช่วงพักระหว่างหลักสูตร แต่เนื่องจากธรรมบริกรจะต้องมีการประสานงานและปรึกษางานกัน จึงไม่อาจแยกชาย-หญิงได้อย่างเด็ดขาด ซึ่งธรรมบริกรจะต้องระวังที่จะไม่ปล่อยให้มีการสังสรรค์ระหว่างชายกับหญิงเกินกว่าความจำเป็นของงาน โดยเฉพาะในกรณีคู่สามีภรรยาที่มาเป็นธรรมบริกรพร้อมกัน จะต้องระวังที่จะไม่พูดคุยกันเกินความจำเป็น

การสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกัน

เพื่อรักษาบรรยากาศแห่งธรรมะอันบริสุทธิ์และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติของแต่ละบุคคล และเป็นตัวอย่างที่ดีต่อผู้ปฏิบัติ ธรรมบริกรจะต้องไม่สัมผัสตัวผู้อื่น ระหว่างเพศเดียวกันและต่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติหรือธรรมบริกรด้วยกัน ตลอดเวลาที่อยู่ในศูนย์ฯ

สัมมาวาจา

ธรรมบริกรควรเคารพกฎแห่งความเงียบเมื่ออยู่ในศูนย์ปฏิบัติธรรมและพูดเฉพาะเมื่อจำเป็น ควรรักษาบรรยากาศแห่งความสงบเงียบในศูนย์แม้ว่าอยู่ในระหว่างมีหลักสูตรการอบรมหรือไม่ก็ตาม  หรือแม้ว่านักเรียนจะไม่อยู่ในระยะที่ได้ยินหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือไม่รบกวนความเงียบโดยไม่จำเป็น การยึดหลักเช่นนี้จะเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมของตนเองและของทุกท่านที่อยู่ในศูนย์

เมื่อต้องพูด ธรรมบริกรต้องมีสัมมาวาจา คืองดเว้นจาก :

  • การพูดปด พูดไม่จริง
  • การพูดคำหยาบ คำไม่สุภาพ ควรพูดจาสุภาพอ่อนน้อม
  • การใส่ร้ายหรือนินทาลับหลัง  ไม่ควรมีการวิจารณ์ผู้อื่นจากความรู้สึกของตัวเอง เมื่อมีปัญหากับใคร ควรพูดคุยกับผู้นั้นโดยตรง หรือนำปัญหาไปปรึกษากับอาจารย์ผู้ช่วยหรือฝ่ายจัดการศูนย์
  • การนินทา ร้องเพลง ผิวปาก หรือฮัมเพลง

สัมมาวาจาย่อมปฏิบัติยากกว่าการปิดวาจา ดังนั้นจึงเป็นการฝึกที่สำคัญยิ่งบนเส้นทางธรรม

การแต่งกาย

บุคคลภายนอกจะมองธรรมบริกรเป็นตัวแทนของการสอนและศูนย์ฯ ดังนั้นภาพลักษณ์ของธรรมบริกรควรมีระเบียบเรียบร้อย  สะอาดและไม่ควรสวมใส่อะไรที่รัดรูป เสื้อผ้าบาง ไม่เหมาะสม หรือดึงดูดความสนใจเกินควร (เช่นกางเกงขาสั้น กระโปรงสั้นกางเกงรัดรูป หรือเสื้อไม่มีแขน) ไม่ควรใส่เครื่องประดับหรือใส่ให้น้อยที่สุด ควรแต่งกายอย่างสุภาพตลอดการอบรม

การใช้ยาสูบ

ผู้ที่เข้ามาบนเส้นทางธรรมแล้ว ย่อมห่างไกลสิ่งเสพติดมึนเมาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ กัญชา เป็นต้น การใช้ยาสูบในรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งต้องห้ามโดยสิ้นเชิง ภายในบริเวณศูนย์ฯ และห้ามออกจากศูนย์ฯชั่วคราวเพื่อไปใช้ยาสูบ

อาหาร

ศูนย์ฯให้บริการอาหารมังสวิรัติที่เรียบง่ายเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยไม่ได้ทำตามความเชื่อหรือหลักปรัชญาทางอาหารใดๆ ธรรมบริกรก็เช่นเดียวกับผู้เข้ารับการอบรม ควรยอมรับอาหารตามที่มีด้วยความอ่อนน้อมและปราศจากอัตตา

อาหารทุกอย่างในศูนย์ฯจะต้องเป็นมังสวิรัติ จึงไม่ควรนำอาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือเหล้า, ไข่หรือส่วนผสมของไข่ (อาหารอบบางชนิด, มายองเนส ฯลฯ) หรือชีสที่มีส่วนผสมของสัตว์ เข้ามาในศูนย์ฯ ควรนำอาหารจากข้างนอกเข้ามาให้น้อยที่สุด

ธรรมบริกรรักษาศีล 5 ฉะนั้นสามารถรับประทานอาหารเย็นได้ถ้าต้องการ และไม่ควรอดอาหาร

การอ่านหนังสือ

ธรรมบริกรที่ต้องการติดตามข่าวสารภายนอกสามารถอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารข่าวได้ แต่เฉพาะในที่ซึ่งจัดไว้สำหรับธรรมบริกรและไม่อยู่ในสายตาของผู้ปฏิบัติ ธรรมบริกรที่ประสงค์จะอ่านหนังสืออื่นสามารถเลือกอ่านจากรายการหนังสือธรรมะของศูนย์ฯ ไม่อนุญาตให้อ่านนวนิยายหรือหนังสือเพื่อความบันเทิง

การติดต่อบุคคลภายนอก

ธรรมบริกรไม่จำกัดในการรับรู้ข่าวสารโลกภายนอกเช่นผู้ปฏิบัติ  แต่ก็ไม่ควรออกจากเขตการอบรม เว้นแต่มีเหตุจำเป็นจริงๆ และอาจารย์ประจำหลักสูตรอนุญาต  ใช้โทรศัพท์ในกรณีที่จำเป็น  ระหว่างการอบรมศูนย์สามารถต้อนรับคนนอกได้ต่อเมื่อมีการแจ้งและได้รับอนุญาตล่วงหน้า

การรักษาความสะอาดภายในศูนย์

ธรรมบริกรมีหน้าที่ช่วยรักษาความสะอาดเรียบร้อยของศูนย์ นอกจาก ห้องครัว ห้องทานอาหาร ห้องพัก ห้องปฏิบัติรวม และห้องน้ำแล้ว สำนักงานและบริเวณอื่นๆ ก็อาจต้องการการดูแล นอกจากนี้หากมีความจำเป็นธรรมบริกรควรพร้อมช่วยงานด้านอื่นๆ ด้วย

การใช้อุปกรณ์ของศูนย์

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาทุกคนได้รับศีลข้อที่ต้องงดเว้นจากการหยิบสิ่งของผู้อื่นที่ไม่ได้รัับอนุญาตมาเป็นของตน ดังนั้นธรรมบริกรทุกคนจึงต้องระมัดระวังที่จะไม่นำสิ่งของ หรือเครื่องใช้ของศูนย์มาใช้ส่วนตัว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายจัดการฯ

การอยู่ที่ศูนย์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

ผู้ปฏิบัติธรรมที่สนใจการปฏิบัติอย่างจริงจังอาจขออนุญาตจากอาจารย์เพื่ออยู่ระยะยาว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติได้รียนรู้ธรรมะทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติลืกซิ้งและเพื่อมั่นคงในธรรมยิ่งขึ้น โดยในระหว่างนี้ท่านสามารถเข้ารับการอบรมสลับกับการเป็นเป็นธรรมบริกร ตามที่อาจารย์และฝ่ายบริหารเห็นว่าเหมาะสม

การบริจาคทาน

กฎระเบียบของศูนย์ฯ กำหนดไว้ว่า จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ในระหว่างการอบรม ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนในการสอนธรรมะ ค่าอาหารและที่พัก หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่จัดให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม ธรรมะบริกรจะต้องปฏิบัติตามกฎนี้เช่นเดียวกัน

การสอนธรรมะอันบริสุทธิ์ต้องเป็นการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน สำหรับอาหาร ที่พัก และสิ่งอื่นๆ เป็นทานที่ได้รับบริจาคจากผู้เข้าอบรมรุ่นก่อนๆ ดังนั้นผู้รับใช้ธรรมะจึงควรระลึกในเรื่องนี้อยู่เสมอ และพยายามให้บริการอย่างดี โดยไม่ทำให้ทานเหล่านี้ต้องสูญเปล่า เพื่อที่ผู้บริจาคทานจะได้ประโยชน์สูงสุดจากทานเหล่านี้ ในทำนองเดียวกันผู้รับใช้ธรรมะก็สามารถสร้างทานบารมีได้ โดยการบริจาคทาน เพื่อให้ผู้อื่นได้รับธรรมะตามกำลังทรัพย์ของตน ทานเหล่านี้ใช้ในการดำเนินการสอนธรรมะ และเป็นแหล่งทุนแหล่งเดียวของศูนย์ฯ

ธรรมบริกรควรระลืกอยู่เสมอว่าการบริจาคทานไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทองหรือการรับใช้ธรรมะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นทั้งสิ้น การเป็นธรรมบริกรไม่ใช่เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหารหรือที่พัก แต่ผู้รับใช้ธรรมได้ประโยชน์จากการฝึกตนเพื่อลดอัตตาและจากการสร้างบารมี ทั้งยังทำให้การปฏิบัติธรรมของตนเองมั่นคงและเข้มแข็งขึ้น อีกทั้งสามารถนำธรรมะไปประยุกต์ใช้ในโลกภายนอก โดยการฝึกการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างถ่อมตัว และด้วยความรัก ความเมตตา

โดยสรุป

ธรรมบริกรควรรับใช้ธรรมะโดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์และผู้บริหารศูนย์ ควรพยายามทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยผู้เข้ารับการอบรมโดยจะต้องไม่รบกวนพวกเขา การทำหน้าที่ของธรรมบริกรควรสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความศรัทธาในผู้ที่มีความลังเลสงสัยในธรรมะ และเพิ่มพูนความศรัทธาในผู้ที่มีอยู่แล้ว ธรรมบริกรควรระลึกไว้เสมอว่าจุดประสงค์ของการรับใช้ธรรมะคือการช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นการช่วยตนเองให้เติบโตในทางธรรม

หากกฎระเบียบเหล่านี้เป็นอุปสรรคใดๆสำหรับท่าน กรุณาขอความกระจ่างจากอาจารย์ หรือฝ่ายจัดการในทันที

ขอให้การรับใช้ธรรมะของท่าน จงเป็นปัจจัยให้ท่านเจริญก้าวหน้าบนเส้นทางแห่งธรรมะ นำท่านไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย จงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน!