ธรรมบรรยายวันที่ 8

กฎของการสั่งสมและการทวนกลับ กฎแห่งการขจัดสังขาร-อุเบกขาคือคุณธรรมอันสูงสุด--อุเบกขาจะช่วยให้บุคคลดําเนินชีวิตที่ถูกต้อง--การวางอุเบกขาเป็นหลักประกันความสุขในอนาคต

แปดวันผ่านไปแล้ว เรายังมีเวลาอีก 2 วันในการปฏิบัติ ในวันที่เหลืออยู่นี้ ขอให้ทําความเข้าใจกับเทคนิคการปฏิบัติให้ดี เพื่อท่านจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ทั้งระหว่างที่ยังอยู่ที่นี่และในชีวิตประจําวันต่อไป ขอให้ทําความเข้าใจว่าธรรมะคืออะไร ธรรมะคือธรรมชาติ คือความจริง คือกฎสากลของจักรวาล

นับเป็นกฎธรรมดาของโลก ที่เมื่อมีการสั่งสม ก็จะมีการขจัดออกไป ดังจะเห็นได้จากคํากล่าวต่อไปนี้

สังขารทั้งหลายล้วนไม่เที่ยง
มีการเกิดดับเป็นธรรมดา
หากสังขารเกิดขึ้นและดับมันเสียได้
การขจัดนั้นก็จะนําความสุขอันแท้จริงมาให้

สังขารหรือการปรุงแต่งทั้งปวงของทุกสภาวะจิตล้วนไม่เที่ยง มีธรรมชาติที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา เมื่อดับไป ก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ เกิดใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ สังขารจึงเพิ่มพูนขึ้นด้วยประการฉะนี้ ถ้าเราได้พัฒนาปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง และเริ่มสังเกตการเกิดดับของ สังขารด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา กระบวนการสั่งสมของ สังขารหรือการปรุงแต่งของกิเลสก็จะหยุดลง ซึ่งเท่ากับว่าการขจัดกิเลสได้เริ่มขึ้น และเมื่อมีสังขารเกิดขึ้นอีก แต่ผู้ปฏิบัติยังคงรักษาจิตเป็นกลางไว้ได้ สังขารนั้นก็จะอ่อนกําลังลงและถูกขจัดออกไป สังขารหรือการปรุงแต่งเก่าๆ จะผุดลอยขึ้นมาอีก ถ้า สังขารถูกขจัดออกไปได้มากเท่าไร ความสุขอันเกิดจากการหลุดพ้นจากความทุกข์ก็จะมากขึ้นเท่านั้น จนกระทั่ง สังขารเก่าๆถูกขจัดออกไปได้หมด ความสุขอันล้นเหลือซึ่งเกิดจากความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิงก็จะบังเกิดขึ้น

ลักษณะนิสัยเก่าๆ ของจิตก็คือ การมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเวทนาหรือความรู้สึกทางกาย ซึ่งมีแต่จะเพิ่มพูนสังขารให้มากขึ้น ดังเช่นเมื่อมีสิ่งที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เราก็จะสร้างสังขารประเภทโทสะขึ้นมาทันที และเมื่อเกิด สังขารหรือการปรุงแต่งขึ้นในจิต ร่างกายก็จะเริ่มแสดงความรู้สึกที่ไม่สบายออกมา ต่อจากนั้นความเคยชินเก่าๆ ในการทําปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกทางกาย ก็จะทําให้เราเกิดโทสะ เหตุภายนอกที่ทําให้เราโกรธนั้นเป็นเพียงเหตุรอง ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้น ที่จริงเป็นไปเพื่อตอบสนองความรู้สึกภายใน ความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่สบาย ทําให้เราตอบโต้ไปด้วยโทสะ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมาอีก แล้วก็ทําให้เราทําปฏิกิริยาตอบกลับไปอีก แล้วกระบวนการสั่งสมกิเลสก็จะเริ่มขึ้น แต่ถ้าเราไม่ทําปฏิกิริยาตอบสนองความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพราะเราเข้าใจในธรรมชาติอันไม่เที่ยงแท้ของมัน เราก็จะไม่สร้าง สังขารใหม่ขึ้นมา และสังขารเก่าที่ผุดขึ้นมาก็จะดับไป โดยไม่มีการเพิ่มสังขารใหม่ขึ้นมาอีก ต่อจากนั้น สังขารชนิดเดียวกันก็จะผุดขึ้นมาจากส่วนลึกของจิต ซึ่งถ้าเราสามารถรักษาความสงบแห่งจิตเอาไว้ได้ สังขารนั้นก็จะดับไป แล้วกระบวนการขจัดกิเลสก็จะได้เริ่มขึ้น

ลักษณะดังกล่าวข้างต้น ที่เราสังเกตได้จากภายในกายของเรานั้น เป็นลักษณะที่มีอยู่ทั่วไปในจักรวาล ตัวอย่างเช่นถ้าเราเพาะเมล็ดไทร ก็จะมีต้นไทรใหญ่เกิดขึ้นจากเมล็ดเล็กๆนั้น และจะออกผลเป็นจํานวนมาก ปีแล้วปีเล่า ตราบเท่าที่มันยังมีชีวิตอยู่ และแม้เมื่อต้นไทรต้นนั้นตายลงไป กระบวนการสั่งสมก็จะยังคงอยู่ เพราะผลทุกผลจะมีเมล็ดซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเมล็ดแรก เมื่อไรที่เมล็ดเหล่านี้ตกลงบนดินที่มีปุ๋ยดี มันก็จะงอกรากและเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไทรต้นใหม่ ซึ่งก็จะออกผลอีกหลายพันหลายหมื่นผล และทุกๆ ผลต่างก็มีเมล็ดที่เป็นเชื้อพันธุ์จากผลเป็นเมล็ด จากเมล็ดเป็นผล กลายเป็นกระบวนการสั่งสมที่ไม่มีวันสิ้นสุด ในทํานองเดียวกัน ด้วยความโง่เขลา คนเราก็เพาะเมล็ดพันธุ์ของสังขาร ซึ่งไม่ช้าก็จะเกิดเป็นผลที่เรียกสังขารเช่นเดียวกัน ผลนี้มีเมล็ดพันธุ์อย่างเดียวกันอยู่ภายใน หากเราเติมปุ๋ยเข้าไป เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะงอกขึ้นมาเป็นสังขารใหม่ ซึ่งจะทำความทุกข์ของเราให้เพิ่มขึ้น แต่หากเราโยนเมล็ดพันธุ์นั้นไปบนหิน เมล็ดเหล่านั้นก็ไม่อาจจะงอกขึ้นมาได้ กระบวนการสั่งสมก็จะหยุดลง และเกิดกระบวนการการทวนกลับโดยอัตโนมัติ นั่นคือกระบวนการขจัดสังขารได้เริ่มขึ้นแล้ว

เมื่อเราเข้าใจว่ากระบวนการนี้ทํางานอย่างไร เราก็จะสามารถนําไปอธิบายการดํารงชีวิตของเราได้ ชีวิตอยู่ได้ต้องมีสิ่งหล่อเลี้ยงกายและใจ สิ่งหล่อเลี้ยงร่างกายเราคือ อาหารและอากาศ เมื่อใดที่เราขาดอาหาร ร่างกายจะยังไม่หยุดทํางานโดยทันที เพราะเรายังมีพลังงานที่สะสมอยู่ภายในร่างกายคอยช่วยหล่อเลี้ยงเราอยู่ได้ หากเมื่อใดพลังงานที่สะสมไว้หมดสิ้นไปกระแสแห่งชีวิตก็จะหยุดนิ่ง แล้วเราก็จะตาย ขณะที่ร่างกายต้องการอาหารเพียงวันละสองหรือสามมื้อแต่จิตของเรานั้นต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา และสังขารหรือการปรุงแต่งก็คืออาหารของจิตใจ สังขารจะเข้าไปหล่อเลี้ยงจิตสํานึกอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ผุดขึ้นในจิตในเวลาต่อมาก็คือผลของสังขารที่เข้าไปนี้ ทุกๆ ขณะที่เราป้อนสังขารหรือการปรุงแต่งเข้าไป กระแสจิตก็จะรับไปหล่อเลี้ยงจิตของตน วนเวียนอยู่เช่นนี้ แต่หากเมื่อใดที่เราหยุดสร้างสังขารใหม่ขึ้นมา กระแสจิตจะยังไม่หยุดทํางาน หากแต่จะดึงเอาสังขารเก่าๆ ที่สะสมไว้ออกมา สังขารเก่าก็จะถูกบังคับให้แตกดอกออกผล นั่นคือผุดโผล่ขึ้นมายังพื้นผิวของจิต เพื่อหล่อเลี้ยงกระแสจิตเอาไว้และจะปรากฏตัวขึ้นเป็นความรู้สึกทางร่างกาย ถ้าเรามีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกนั้น ก็เท่ากับเราได้ก่อให้เกิดสังขารใหม่ขึ้นมา ซึ่งหมายถึงเราได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความทุกข์ขึ้นมาอีก หากเมื่อใดที่เราสังเกตความรู้สึกนั้นๆ ด้วยอุเบกขา สังขารก็จะหมดกําลังลงและถูกขจัดออกไปในเวลาต่อมา เมื่อสังขารเก่าอื่นๆ ผุดโผล่ขึ้นมาอีก เพื่อหล่อเลี้ยงกระแสจิตเอาไว้ และถ้าเรายังวางเฉยอยู่ได้มันก็จะถูกขจัดออกไปอีก ตราบใดที่เรารักษาสติและอุเบกขาไว้ได้อย่างมั่นคง การปรุงแต่งของกิเลสหรือสังขารเก่าๆ ชั้นแล้วชั้นเล่า ก็จะโผล่ขึ้นบนพื้นผิวของจิต และถูกขจัดไป นี้เป็นกฎธรรมชาติ

เราจะรู้ถึงกระบวนการอันนี้ได้ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง เมื่อไรที่เราเห็นว่าอุปนิสัยเก่าๆ ความทุกข์เก่าๆ ของเราได้ถูกขจัดไป เราก็จะรู้ได้ว่า กระบวนการขุดลอกกิเลสของเราทํางานได้ผลแล้ว

ตัวอย่างเช่นเดียวกันนี้ก็เห็นได้จากวิชาการทางโลหะวิทยาสมัยใหม่ ที่ใช้ในการหลอมเอาโลหะที่มีความบริสุทธิ์อย่างสูงออกมา โดยวิธีสกัดเอาสารแปลกปลอมอื่นๆ ออกให้หมด ไม่ให้มีเหลือแม้แต่โมเลกุลเดียวในพันล้านส่วน ซึ่งวิธีนี้สามารถทําได้โดยการหลอมโลหะเป็นเส้นลวด และนําโลหะชนิดเดียวกันที่ทําให้บริสุทธิ์แล้วมาโค้งเป็นวงแหวน นําไปรูดเส้นลวดโลหะนั้น กระแสแม่เหล็กจะไล่เอาความไม่บริสุทธิ์ออกจากเส้นลวดทั้งหมด และโมเลกุลในเส้นลวดจะเกิดการเรียงตัว ทําให้เส้นลวดนั้นยืดหยุ่นดัดเป็นรูปต่างๆได้ ในทํานองเดียวกัน เทคนิคของการทําวิปัสสนาก็อาจจะถือเสมือนหนึ่งการรูดวงแหวนของสติผ่านร่างกายตลอดร่าง ขับไล่เอากิเลสต่างๆ อันไม่บริสุทธิ์ออกไปจากตัว

การมีสติและการวางอุเบกขา จะนําไปสู่การชําระจิตให้บริสุทธิ์ ในการปฏิบัติภาวนา ประสบการณ์ที่เราได้รับจะดีหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งสําคัญ สิ่งที่สําคัญคือ เราจะต้องไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกทางกายหรือเวทนา ด้วยความชอบซึ่งเป็นโลภะกิเลส และไม่ชอบซึ่งเป็นโทสะกิเลส เพราะทั้งสองสิ่งนี้จะนําแต่ความทุกข์มาให้ สิ่งที่จะใช้วัดความก้าวหน้าบนเส้นทางสู่ความหลุดพ้นของเราก็คือ ความมีอุเบกขาที่เราได้พัฒนาขึ้นมา และอุเบกขานั้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับที่เป็นความรู้สึกทางกายหรือระดับเวทนา ถ้าเราต้องการจะเข้าไปให้ถึงส่วนลึกของจิตใจเพื่อขจัดกิเลสให้หมดไป เราต้องมีสติระลึกรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายอยู่ตลอดเวลา และสามารถวางอุเบกขาต่อความรู้สึกเหล่านั้นได้ แล้วเราก็จะสามารถรักษาความสมดุลแห่งจิตในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกได้ด้วย

ได้เคยมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า มงคลอันสูงสุดนั้นคืออะไร  ทรงตอบว่า มงคลอันสูงสุดนั้นเกิดจากความสามารถในการรักษาจิตไม่ให้หวั่นไหวท่ามกลางความแปรผันของชีวิต ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง บุคคลอาจได้พบกับสภาวะอันน่ารื่นรมย์หรือเจ็บปวด ได้พบกับชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ กําไรหรือขาดทุน ชื่อเสียงที่ดีหรือเลว เป็นธรรมดาที่ใครๆ ก็อาจจะได้พบกับสิ่งเหล่านี้ แต่จะมีใครสักกี่คนที่สามารถยิ้มรับเหตุการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นได้ ด้วยยิ้มที่มาจากส่วนลึกของจิตใจ ถ้าเรามีจิตที่เป็นอุเบกขาอยู่ในส่วนลึกแล้ว เราจะได้พบกับความสุขอันแท้จริง

ถ้าการวางอุเบกขาของเราเป็นไปแต่เพียงผิวเผิน ก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจําวันของเราแต่อย่างใด เปรียบเสมือนกับคนที่แบกเอาถังน้ำมันเข้าไว้ภายใน ถ้าเพียงแต่มีประกายไฟมากระทบเข้า อันเป็นผลมาจากปฏิกิริยาเดิม แรงระเบิดก็จะเกิดขึ้นทันที กลายเป็นประกายไฟนับล้านๆ ทําให้เกิดสังขารใหม่ๆ ขึ้นมากมาย กลับมาเป็นไฟเผาผลาญตน ทําให้มีความทุกข์มากขึ้น แต่ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา เราจะค่อยๆทําให้ถังนั้นว่างเปล่าลง ประกายไฟจะยังคงมีอยู่ เพราะสังขารเก่าๆ ยังคงอยู่ หากแต่เมื่อใดที่เกิดมีประกายไฟขึ้น ไฟก็จะเผาผลาญเฉพาะแต่น้ำมันในส่วนที่มีอยู่ โดยไม่มีน้ำมันใหม่เติมลงไป ไฟจะเผาอยู่เพียงชั่วครู่ เมื่อหมดเชื้อแล้ว ก็จะมอดดับไป แต่ภายหลังเมื่อเราได้ก้าวหน้าในการปฏิบัติไปได้เรื่อยๆ เราจะเริ่มเติมน้ำที่เย็นฉ่ำไปด้วยความรักและความเมตตาลงไปในถังจนกระทั่งเต็ม   และเมื่อไรที่เกิดมีประกายไฟแลบออกมา  มันก็จะถูกดับไป โดยประกายไฟนั้นไม่สามารถแม้แต่จะเผาไหม้น้ำมันจํานวนเล็กน้อยที่มีอยู่

เราอาจจะใช้สมองไตร่ตรองและเข้าใจตามนี้ได้ และเราก็รู้ด้วยว่า เราควรจะมีปั้มน้ำเอาไว้เพื่อใช้ดับไฟ แต่ทว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นจริงๆ เรากลับเปิดถังน้ำมัน และทําให้ไฟลุกไหม้หนักเข้าไปอีก ต่อมาภายหลังเราจึงสํานึกถึงความผิด แต่เราก็ยังจะทําสิ่งเดียวกันอีกเมื่อเกิดไฟลุกไหม้ขึ้นมา ทั้งนี้เพราะเราใช้ปัญญาแต่เพียงผิวเผิน ถ้าเรามีปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงลึกเข้าไปในจิต เมื่อเกิดประกายไฟขึ้นมา เราจะไม่สาดน้ำมันเข้าใส่ เพราะเรารู้ดีว่าการทําเช่นนี้มีแต่จะทําให้เกิดอันตราย เราควรที่จะใช้น้ำอันฉ่ำเย็นด้วยความรักความเมตตาสาดเข้าไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยทั้งผู้อื่นและตนเอง

ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นในระดับความรู้สึกทางกาย หากท่านฝึกตนเองให้มีสติระลึกรู้ถึงความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ และรักษาจิตให้มีอุเบกขาต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ ก็จะไม่มีอะไรที่จะมามีอํานาจเหนือท่าน เมื่อไรที่มีเหตุการณ์มากระทบ ท่านอาจจะสังเกตอยู่สักครู่โดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ และด้วยจิตอันสมดุล ท่านก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ท่านควรจะทําอย่างไร ไม่ว่าท่านตัดสินใจจะทําอย่างไร สิ่งที่ท่านทําก็จะถูกต้องดีงามและมีประโยชน์ต่อผู้อื่นเสมอ ทั้งนี้เพราะท่านได้กระทําลงไปด้วยจิตที่เป็นกลาง

อาจจะมีบางครั้งที่ท่านจําเป็นต้องทําสิ่งที่รุนแรงลงไปบ้าง เพราะแม้ว่าจะพยายามชี้แจงอย่างสุภาพอ่อนโยนและเป็นมิตรแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังไม่เข้าใจ เพราะเขารู้จักแต่เฉพาะความรุนแรงเท่านั้น หากแต่ก่อนที่จะทําลงไป ท่านจะต้องสํารวจดูตนเองเสียก่อนว่า จิตใจของท่านมีความสมดุลอยู่หรือไม่ จิตใจของท่านมีแต่ความรักความเมตตาในตัวคนผู้นั้นหรือไม่ ถ้าเป็นดังนั้น การกระทําของท่านก็จะเป็นประโยชน์ หากมิใช่เช่นนั้นก็รังแต่จะเกิดโทษ การที่เราทําสิ่งที่รุนแรงลงไปก็เพื่อช่วยผู้หลงผิด การกระทําใดๆ ที่ทําลงไปบนพื้นฐานแห่งความรักความเมตตา จะไม่เป็นการกระทําที่ผิดพลาด

ในกรณีที่มีการข่มเหงรังแกกัน ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้จักแยกแยะดูทั้งบุคคลที่ข่มเหงคนอื่น และคนที่ถูกข่มเหงด้วยความเมตตา ไม่เฉพาะแต่กับผู้ที่ถูกรังแกเท่านั้น หากแต่ต้องให้ความเมตตาแก่ผู้ที่ข่มเหงเขาด้วยเหมือนกัน เพราะเขาไม่รู้สึกตนว่าได้ทําร้ายตัวเองด้วยการกระทําเช่นนั้น ด้วยความเข้าใจดังนี้ เราจึงควรพยายามป้องกันเขาจากการกระทํา อันจะก่อให้เกิดความทุกข์แก่ตัวเขาเองในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตามท่านต้องระวังที่จะไม่หาเหตุผลมาอธิบายการกระทําของท่าน ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว เพราะท่านจะต้องสํารวจจิตใจของท่าน ก่อนที่จะทําอะไรลงไป ถ้าจิตใจเต็มไปด้วยมลทิน เราก็ไม่อาจจะช่วยผู้ใดได้ เราจําเป็นต้องแก้ไขข้อบกพร่องในตัวเราก่อนที่จะไปคิดแก้ไขความบกพร่องของผู้อื่น ท่านจะต้องทําจิตของท่านให้บริสุทธิ์ด้วยการสํารวจตนเองเสียก่อน แล้วท่านจึงจะสามารถช่วยผู้อื่นได้

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีบุคคลอยู่ 4 ประเภทในโลก บางคนมามืดไปมืด บางคนมาสว่างไปมืด บางคนมามืดไปสว่างและบางคนก็มาสว่างไปสว่าง

สําหรับคนพวกแรก มามืดไปมืด ชีวิตรอบด้านเต็มไปด้วยความทุกข์ ความมืดมน แต่ที่ร้ายที่สุดก็คือ เขาปราศจากปัญญาด้วย เมื่อไรที่ได้พบกับความทุกข์ เขาก็ได้แต่เพิ่มพูนความโกรธ ความเกลียดชัง และคอยกล่าวโทษผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของเขา สังขารหรือการปรุงแต่งต่อความโกรธ ความเกลียด มีแต่จะนําเขาไปสู่ความมืด ความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นต่อไป

บุคคลพวกที่สอง มาสว่างไปมืด คือบุคคลที่มีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นความรุ่งเรืองทางโลก เช่น เงินทอง ตําแหน่งหน้าที่ และอํานาจครอบครองอยู่ แต่ทว่าเขาก็เป็นผู้ที่ไร้ปัญญาเช่นกัน ด้วยความโง่เขลาทําให้เขาเกิดความหยิ่งผยองหลงตนซึ่งจะนําเขาไปสู่ความมืดในอนาคต

บุคคลจําพวกที่สาม มามืดไปสว่าง อยู่ในสถานะเดียวกันกับพวกแรก คือมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความมืดมัว หากแต่เขามีปัญญาและเข้าใจถึงสถานการณ์ได้ดี เขารู้ว่าเขาคือผู้ที่จะต้องรับผิดชอบในชะตากรรมของตนเอง และพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยความสงบและสันติ โดยไม่มีความโกรธหรือเกลียดชังในตัวผู้อื่น ตรงกันข้ามเขามีแต่ความรักและความเมตตาต่อผู้ที่ได้ทําร้ายเขา การกระทําของเขาจะนําเขาไปสู่อนาคตอันสดใส

บุคคลจําพวกที่สี่นั้น มาสว่างไปสว่าง เป็นเช่นเดียวกับบุคคลประเภทที่สอง คือมีความสุขอยู่กับทรัพย์สิน ตําแหน่งหน้าที่และอํานาจ แต่ต่างกับบุคคลเหล่านั้นตรงที่เป็นคนที่มีปัญญาแบบเดียวกับพวกที่สาม เขาใช้สิ่งที่มีอยู่เพื่อรักษาสถานภาพของตนเองและผู้ที่พี่งพาอาศัยเขา และใช้ส่วนที่เหลือให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความรักและความเมตตา คนเช่นนี้จะพบกับความสว่าง ทั้งขณะปัจจุบันและในอนาคตด้วย

เราไม่สามารถเลือกอดีตหรือปัจจุบันให้สว่างหรือมืดได้ ทั้งนี้เป็นผลที่มาจากสังขารเก่าของตน อดีตเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราสามารถควบคุมปัจจุบันได้ด้วยการเป็นนายของตนเอง อนาคตเป็นแต่เพียงอดีตบวกกับสิ่งที่เพิ่มเข้าไปในปัจจุบัน วิปัสสนาจะสอนให้เราเป็นนายของตัวเองได้โดยการเจริญสติ และวางอุเบกขาต่อความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถควบคุมตนเองได้ในปัจจุบัน อนาคตก็จะสดใสไปเองโดยอัตโนมัติ

จงใช้ประโยชน์จากเวลา 2 วันที่เหลืออยู่นี้ เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการควบคุมชีวิตในปัจจุบัน ตลอดจนเรียนรู้วิธีการควบคุมตนเอง ขอให้ทุกท่านจงเจริญก้าวหน้าในธรรมะ จงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย และได้พบกับความสุขอันแท้จริง ณ ที่นี้ตั้งแต่บัดนี้เถิดขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน