การปฏิบัติวิปัสสนา
สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
กรรมฐาน
ในแนวทางของท่านซายาจี อูบาขิ่น
ธรรมบรรยายวันที่ 3
อริยมรรคมีองค์ 8: ปัญญาแบ่งออกเป็น 3 อย่าง ได้แก่ปัญญาซึ่งเกิดจากการฟังการเรียนรู้, ปัญญาซึ่งเกิดจากการคิดพิจารณาหาเหตุผล, และปัญญาซึ่งเกิดจากการปฏิบัติภาวนา--กลาปะ--ธาตุ 4--ไตรลักษณ์: อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา--การทะลวงผ่านม่านบังตาของสมมติสัจจะ
วันที่ 3 ได้ผ่านไปแล้ว พรุ่งนี้ช่วงบ่าย ท่านจะได้ศึกษาเรื่องปัญญา อันเป็นหมวดที่ 3 ของอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งหากขาดปัญญาแล้วมรรคก็จะไม่สมบูรณ์
การเดินไปบนมรรคาแห่งความหลุดพ้นนี้ เราต้องเริ่มด้วยการรักษาศีล โดยละเว้นจากการทําร้ายผู้อื่นทั้งทางกาย วาจา และใจ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทําร้ายผู้อื่น หรือทําให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน แต่เราก็อาจทําร้ายตัวของเราเอง ด้วยการสร้างกิเลสขึ้นในใจ ดังนั้นเพื่อป้องกันการทําร้ายตนเองจากการสร้างกิเลสขึ้นในใจนี้ เราจึงต้องมาฝึกสมาธิ เพื่อเรียนรู้การควบคุมจิตใจให้รู้จักระงับกิเลสที่จะเกิดขึ้น แต่การระงับกิเลสนั้นหาได้เป็นการขจัดกิเลสไม่ เพราะกิเลสจะยังคงมีอยู่ในจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิต และมีแต่จะพอกพูนขึ้น แล้วคอยทําร้ายเราต่อไป ดังนั้นเมื่อได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรมในหมวดที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องศีล และในหมวดที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องสมาธิแล้ว เราก็มาถึงการปฏิบัติธรรมในหมวดที่ 3 ซึ่งเกี่ยวกับปัญญา ซึ่งไม่เป็นการปล่อยให้กิเลสเกิดได้ตามสบาย หรือขณะเดียวกันก็จะไม่ไประงับกิเลสเอาไว้แต่จะปล่อยให้กิเลสได้ปรากฏตัวออกมา แล้วก็ขจัดกิเลสเหล่านั้นให้หมดไป เมื่อกิเลสได้ถูกขจัดให้หมดไปแล้ว จิตก็จะบริสุทธิ์ขึ้น และเมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว เราก็ไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ที่จะหลีกเลี่ยงจากการกระทําที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น เนื่องจากธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะเต็มไปด้วยความปรารถนาดี และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และในเวลาเดียวกัน ก็จะไม่ทําการใดที่จะทําให้เกิดผลร้ายแก่ตนเอง ซึ่งจะเป็นการนําความสุขความไพบูลย์มาสู่ชีวิตของเรา ดังนั้นแต่ละย่างก้าวบนเส้นทางสายนี้จะนําเราไปสู่ขั้นตอนที่สูงยิ่งๆขึ้นไปเสมอ ศีลจะนําไปสู่การพัฒนาสมาธิ คือความตั้งมั่นชอบ สมาธิก็จะนําไปสู่การพัฒนาปัญญา อันจะทําให้จิตบริสุทธิ์ ปัญญาก็จะนําไปสู่นิพพานคือการหลุดพ้นจากกิเลส และได้รู้แจ้งในสัจธรรม
ในหมวดของปัญญาประกอบด้วยอริยมรรค 2 ประการคือ สัมมาสังกัปปะและสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีความหมายดังนี้
(7)สัมมาสังกัปปะ--คือการดําริชอบในการที่จะพัฒนาปัญญาให้เกิดขึ้นนั้น เราไม่จําเป็นจะต้องหยุดกระบวนการความคิดใดๆ ความคิดต่างๆ ยังคงดําเนินต่อไป แต่รูปแบบการคิดจะเปลี่ยนไป กิเลสหยาบที่มีอยู่ในระดับพื้นผิวของจิตก็จะเริ่มหมดไป เพราะการฝึกจิตให้มีสมาธิอยู่กับการหายใจเข้าออก สมาธิจะช่วยพัฒนาให้เกิดปัญญา แล้วรูปแบบของความคิดที่ถูกที่ควรก็จะค่อยๆเข้าไปแทนที่ความคิดดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง การดําริที่จะทําการในสิ่งใดๆ ก็จะเป็นไปในทางที่ชอบ เป็นไปในทางธรรมะ เพื่อนําตนให้หลุดพ้น
(8)สัมมาทิฏฐิ--คือความเห็นชอบ ซึ่งเป็นปัญญาอันแท้จริง โดยมีความเห็นหรือความเข้าใจสิ่งต่างๆตามเนื้อแท้ของความเป็นจริง มิใช่ตามที่มันดูเหมือนจะเป็น
การพัฒนาปัญญามีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นแรกเรียกว่าสุตมยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังและการได้อ่าน ซึ่งเป็นการเรียนรู้เรื่องราวจากผู้อื่น โดยความรู้ที่ได้จะเป็นประโยชน์มากในการนํามากําหนดแนวคิดของเราเอง อย่างไรก็ตามสุตมยปัญญาก็ไม่อาจช่วยให้เราหลุดพ้นไปได้ เพราะเป็นเพียงการได้เรียนรู้ปัญญาของผู้อื่น โดยเรื่องที่เรียนรู้มาจนเกิดเป็นความเชื่อว่าเป็นความจริงนั้น บางทีอาจจะเป็นความเชื่อที่งมงาย หรือเป็นการเชื่อเพราะความกลัว เช่น กลัวว่าหากไม่เชื่อแล้วจะตกนรก หรือบางครั้งก็เชื่ออย่างมีอุปาทาน โดยหวังว่าหากเชื่อแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์ ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นเพราะได้เรียนรู้มาจากผู้อื่น หาได้เป็นความคิดเห็นอันเกิดจากปัญญาของตนเองไม่
ขั้นที่สองเรียกว่าจินตามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการนําเอาปัญญาในขั้นตอนแรก คือสุตมยปัญญาหรือปัญญาจากการได้ฟังและการได้อ่านมาพินิจพิจารณา หาว่ามีเหตุผลที่สมควรเชื่อถือได้หรือไม่ และสามารถนําไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในทางพ้นทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าได้จึงจะยอมรับ ซึ่งก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ แต่ก็สามารถเป็นอันตรายได้ โดยเมื่อพัฒนามาถึงขั้นจินตามยปัญญาแล้วหยุด ไม่พัฒนาต่อไป ก็อาจจะทําให้คิดว่าตนเองเป็นผู้มีปัญญาแล้ว ซึ่งการมีความคิดเช่นนั้นก็เท่ากับไปเพิ่มอัตตาให้แก่ตนเอง ซึ่งในส่วนนี้ แท้จริงแล้วตนเองนั้นยังห่างไกลจากการพ้นทุกข์อยู่อีกมาก จึงจําเป็นต้องพิจารณาให้ก้าวหน้าต่อไปในขั้นที่สาม
ขั้นที่สามเรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง การพัฒนาปัญญาที่เริ่มจากขั้นแรกคือสุตมยปัญญา ซึ่งได้แก่การไดัฟังและได้อ่าน แล้วนําไปสู่ขั้นที่สองคือจินตามยปัญญา ซึ่งได้แก่การใช้ความคิดพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ทั้งสองส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เมื่อได้เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแนวทางให้ก้าวมาสู่ปัญญาขั้นที่สาม นั่นคือภาวนามยปัญญา อย่างไรก็ตาม ภาวนามยปัญญาซึ่งพัฒนาขึ้นมาได้จากการปฏิบัติเท่านั้น ที่จะนำไปความหลุดพ้น เพราะภาวนามยปัญญาเป็นปัญญาที่เกิดกับตนเอง โดยการปฏิบัติด้วยตนเอง
จะขอยกตัวอย่างของปัญญาทั้ง 3 อย่างดังนี้ แพทย์ได้ออกใบสั่งยาให้ผู้ป่วยคนหนึ่ง ด้วยความศรัทธาในตัวแพทย์ของเขา เมื่อเขากลับบ้าน เขาก็ได้ท่องชื่อยาทุกวัน นี่คือสุตมย ปัญญา เท่านั้นยังไม่พอ ผู้ป่วยได้กลับไปหาแพทย์ แล้วขอข้อมูลและได้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของยา เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้ยานี้ รวมถึงการทำงานของยา นี่คือจินตามย ปัญญา ท้ายที่สุดเขาก็ทานยา ซึ่งวิธีนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้อาการเจ็บป่วยของเขาหายไปได้ และประโยชน์ที่เขาจะได้รับอย่างแท้จริงก็มาจากขั้นที่ 3 นี้เท่านั้น ซึ่งเรียกว่าภาวนามย ปัญญา
การที่ท่านได้เข้ามารับการอบรมครั้งนี้ ก็เหมือนกับการมารับยา เพื่อนําไปใช้ในการพัฒนาปัญญาของท่าน ท่านจะพัฒนาปัญญาได้ก็ต้องเข้าใจถึงสภาวธรรมอันเป็นความจริงด้วยประสบการณ์ของท่านเอง ความสับสนทั้งหลายที่มีอยู่ ล้วนมีสาเหตุมาจากการที่สิ่งต่างๆแลดูเหมือนจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับกลายไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง การที่จะขจัดความสับสนเหล่านี้ออกไป เราจะต้องพัฒนาปัญญาที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ตามความเป็นจริง ให้เกิดขึ้นภายในตัวของเราเอง เราไม่อาจจะมีประสบการณ์ตรงกับสัจธรรมที่เกิดขึ้นภายนอกร่างกายของเราได้ เราทําได้ก็แต่เพียงคิดพิจารณาหาเหตุผลเอาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพัฒนาความสามารถที่จะรับรู้ถึงสัจธรรมที่เกิดขึ้นจริงภายในตัวของเราเอง จากความจริงที่สัมผัสได้อย่างหยาบๆ ไปจนถึงสิ่งที่ละเอียดที่สุด เพื่อการหลุดพ้นจากความหลงผิดและพันธนาการทั้งปวง
เราทุกคนต่างรู้ดีว่า ทั่วทั้งจักรวาลมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่การใช้ปัญญาที่พิจารณาจนเข้าใจถึงความเป็นจริงอันนี้เพียงอย่างเดียว ก็ยังไม่สามารถจะช่วยอะไรเราได้ เราจึงจําเป็นจะต้องมีประสบการณ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงนั้นภายในตัวเราเอง บางครั้งการมีเหตุการณ์น่าเศร้าเกิดขึ้น เช่น คนข้างเคียงหรือคนที่เรารักตายลง ก็อาจจะเป็นเหตุที่บังคับให้เราได้พบกับสัจธรรมของความไม่เที่ยง ทําให้เราได้พัฒนาปัญญาขึ้นมา ได้แลเห็นว่าการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความสุขทางโลก หรือการทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่นนั้นไม่มีประโยชน์อันใด แต่ในไม่ช้านิสัยเก่าๆก็จะกลับมาอีก ปัญญาที่ได้มาก็จะค่อยๆหายไป เนื่องจากปัญญานั้นมิได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ภายในของเราโดยตรง เราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับความไม่เที่ยงภายในตัวของเราเอง
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่จีรัง มีการเกิดขึ้นและดับไปอยู่ทุกขณะ เป็นอนิจจัง แต่ความรวดเร็วและความต่อเนื่องกันของกระบวนการเกิดดับนี้ ทําให้เกิดเป็นภาพมายาว่าเที่ยงแท้ เช่นเปลวเทียนและแสงไฟจากหลอดไฟฟ้า ต่างก็มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าคนเราสามารถรู้สึกได้ถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกายของเรา อย่างที่เกิดกับเปลวเทียนและแสงไฟ เมื่อนั้นเราก็สามารถหลุดพ้นจากภาพลวงตาได้ แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกระแสไฟฟ้า ซึ่งเราไม่สามารถรู้สึกได้ ดังนั้นการจะหลุดพ้นออกจากภาพลวงตาจึงเป็นไปได้ยาก เราอาจจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาของสายน้ำไหล แต่เราจะเข้าใจได้อย่างไรว่า คนที่กำลังอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะเช่นกัน
วิธีเดียวที่จะทําลายภาพลวงตาได้ก็คือ เราจะต้องเรียนรู้ที่จะสํารวจให้ลึกเข้าไปภายในตัวของเราเอง จนพบกับความจริงเกี่ยวกับโครงสร้างทั้งทางกายและจิตของเราเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ พระสิทธัตถะ โคตมะ ได้ทรงกระทํา และทําให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงสลัดแนวความคิดดั้งเดิมทั้งหมด และทรงหันมาสํารวจภายในพระกายของพระองค์เอง เพื่อค้นหาธรรมชาติอันแท้จริงของโครงสร้างทางร่างกายและจิตใจ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ความเป็นจริงในระดับผิวเผินที่เห็นได้ชัดเจน แล้วทะลุทะลวงลงไปยังระดับที่ลึกที่สุด ซึ่งทําให้ทรงพบว่า โครงสร้างทางกายภาพทั้งหมด หรือโครงสร้างทางรูปทั้งหมด ล้วนแต่ประกอบขึ้นด้วยอนุปรมาณู ที่เรียกในภาษาบาลีว่าอัฐกลาปะ และทรงพบว่าแต่ละอนุปรมาณูนั้นประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ--ดิน น้ํา ลม ไฟ--และลักษณะย่อยของธาตุแต่ละธาตุเหล่านั้น ธาตุเหล่านี้เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของรูปหรือร่างกาย ซึ่งตัวของมันเองก็เกิดและดับอยู่เสมออย่างรวดเร็วมาก เป็นล้านๆครั้งในเวลาหนึ่งวินาที ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว วัตถุทุกชนิดในโลกล้วนไม่มีตัวตนที่ถาวร ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการเผาไหม้ และกระแสของการสั่นสะเทือนกระเพื่อมไหว
นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ก็ได้ยืนยันการค้นพบของพระพุทธองค์ ว่าเป็นความจริง และได้พิสูจน์โดยการทดลองให้เห็นว่า สสารทั้งหมดในจักรวาลเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของอนุปรมาณู ซึ่งมีการเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เพราะปัญญาของเขาเกิดจากความรู้ที่ได้มาจากเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้รู้จากประสบการณ์ภายในกายของตนเองอย่างเช่นพระพุทธองค์ หากผู้ใดได้พบสัจธรรมในความไม่เที่ยงของตนด้วยตนเองแล้ว ผู้นั้นจึงจะเริ่มหลุดพ้นจากความทุกข์
เมื่อความเข้าใจถึงคำว่าอนิจจัง หรือความไม่เที่ยงได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดปัญญาได้เห็นอนัตตา อันได้แก่ ความไม่มีตน ไม่มีของตน ทั้งภายในกายและภายในจิตใจว่า ไม่มีอะไรที่คงทนอยู่ได้เกินชั่วขณะหนึ่ง ไม่มีอะไรที่คนเราจะสามารถชี้ได้ว่า เป็นกาย หรือจิตใจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้ามีอะไรสักอย่างที่เป็นของเราจริงๆแล้ว เราก็จะต้องสามารถเป็นเจ้าของได้ ควบคุมและรักษาไว้ได้ แต่แท้จริงแล้วคนเราไม่สามารถที่จะควบคุมและรักษาอะไรไว้ได้เลย แม้แต่ร่างกายของเราเอง อวัยวะทุกส่วนมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะปรารถนาที่จะยื้อยุดให้คงที่ไว้อย่างไร
เมื่อได้เข้าใจและมองเห็นอนิจจังและอนัตตาแล้ว ต่อไปปัญญาขั้นที่สามก็จะพัฒนาขึ้นมา ทําให้เห็น ทุกขัง คือความทุกข์ เมื่อคนเราต้องการเป็นเจ้าของ หรือยึดถือในสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงที่เราไม่อาจจะควบคุมได้ ก็จะเป็นการเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเองมากขึ้น โดยทั่วไปคนเรามักจะแบ่งแยกว่า ความทุกข์เป็นประสบการณ์ด้านที่ไม่ดี ไม่สบาย แต่แท้จริงแล้วความรู้สึกที่ดีที่สบายก็อาจจะก่อให้เกิดความทุกข์ได้เช่นเดียวกัน ถ้าเราไปยึดติดกับมันเข้า เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เที่ยงแท้เช่นกัน การยึดติดอยู่กับสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ย่อมจะก่อให้เกิดความทุกข์เสมอ
เมื่อมีความเข้าใจแจ่มแจ้งในอนิจจัง, ทุกขัง, และอนัตตาแล้ว ความรู้แจ้งนี้ก็จะปรากฏออกมาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับการได้เรียนรู้ที่จะมองเจาะผ่านผิวนอกเข้าไปถึงความเป็นจริงภายใน สามารถเห็นได้ทั้งความเป็นจริงที่เป็นระดับพื้นผิว และเห็นสัจธรรมภายในที่แท้จริง โดยไม่มีภาพลวงตาใดๆหลงเหลืออยู่ ซึ่งจะทําให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขที่แท้จริง
ภาพลวงตาต่างๆที่ปรากฏให้เห็น เกิดจากการมารวมตัวกัน หรือการประกอบกันขึ้นมาของอีกหลายๆองค์ประกอบ ทำให้ดูเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริง เช่น ภาพลวงตาที่ทําให้แลเห็นความงามของร่างกาย เป็นต้น ความจริงนั้นร่างกายจะดูงามได้ ก็ต่อเมื่อมีอวัยวะส่วนต่างๆ มาประกอบกันขึ้นเป็นร่างกาย แต่ส่วนต่างๆของร่างกายนี้ หากนํามาแยกออกทีละส่วน ก็จะไม่ชวนมอง ไม่มีความงามหลงเหลืออยู่ เรียกว่าเป็นอสุภะ ความงามของร่างกายจึงเป็นแต่เพียงสมมติสัจจะ คือความจริงในระดับผิวเผิน หรือความจริงที่สมมติกันขึ้นมา มิใช่ปรมัตถสัจจะหรือความจริงอันสูงสุด
อย่างไรก็ตามการเข้าใจในธรรมชาติของภาพลวงตา คือความสวยงามของร่างกายนั้น ก็หาได้ทําให้เกิดความเกลียดชัง ไม่พอใจในตัวผู้อื่นไม่ เพราะเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น จิตใจก็จะเข้าสู่ความสมดุลตามธรรมชาติ ไม่ยึดติด มีความบริสุทธิ์ และเต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่อผู้อื่น การที่เราได้พบกับความจริงภายในตนเอง จะทําให้เราหลุดพ้นจากภาพลวงตา พ้นจากความโลภ ความโกรธ ความหลง และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสงบสุข
่บ่ายวันพรุ่งนี้ ท่านจะได้เริ่มเดินก้าวแรกเข้าไปสู่หนทางแห่งปัญญา เมื่อท่านได้เริ่มฝึกวิปัสสนา แต่ท่านก็ไม่ควรคิดว่า ในทันทีที่ท่านเริ่มฝึก ท่านจะได้เห็นอนุปรมาณูหรืออัฐกลาปะ เกิดและดับตลอดทั่วร่างกาย ท่านจะต้องเริ่มต้นจากสมมติสัจจะ หรือความจริงที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่ทั่วๆไปเสียก่อน และเมื่อจิตใจสงบ เราจึงจะค่อยๆเจาะลึกเข้าไปถึงสัจจะหรือความจริงในส่วนละเอียดที่อยู่ภายใน จนถึงสัจธรรมสูงสุดของนาม ของรูป ของปัจจัยต่างๆ ทางจิต และท้ายที่สุดคือการเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดหรือปรมัตถสัจจะที่อยู่เหนือรูปและนาม หรือเหนือกาย และใจ
เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนี้ ท่านจะต้องฝึกฝนตนเอง จงรักษาศีลให้มั่น เพราะศีลจะเป็นพื้นฐานในการทําสมาธิ และให้ฝึกอานาปานสติไปจนถึงบ่าย 3 โมงวันพรุ่งนี้ โดยเฝ้าสังเกตความจริงที่เกิดขึ้นในบริเวณช่องจมูก ฝึกจิตของท่านให้แหลมคม เพื่อให้ท่านสามารถเจาะลงไปในระดับลึกๆ และขจัดความไม่บริสุทธิ์ ที่ซ่อนอยู่ภายในออกให้ได้ เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาในวันพรุ่งนี้ จงปฏิบัติด้วยความอดทน ด้วยความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัวของท่านเอง เพื่อความหลุดพ้นของท่านเอง
ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสําเร็จในการปฏิบัติ ในการเดินก้าวแรกไปบนเส้นทางแห่งความหลุดพ้นนี้เถิด
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน!