การปฏิบัติวิปัสสนา
สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
กรรมฐาน
ในแนวทางของท่านซายาจี อูบาขิ่น
ธรรมบรรยายวันที่ 5
อริยสัจ 4: ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค--ลูกโซ่แห่งการเกิดที่อาศัยกันและกัน
วันที่ 5 ผ่านไปแล้ว ยังเหลือเวลาอีก 5 วันที่จะฝึก ขอให้ใช้เวลาอีก 5 วันนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยปฏิบัติให้มาก และทําความเข้าใจกับเทคนิคการปฏิบัติให้ถูกต้อง
จากที่ได้สังเกตลมหายใจเข้าออกภายในบริเวณขอบเขตที่จํากัดให้ ท่านก็ได้เริ่มทําการสังเกตต่อไปถึงเวทนาหรือความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย เมื่อเริ่มฝึก เราอาจได้เผชิญกับความไม่สบายกายหรือทุกขเวทนาต่างๆ เช่น ความเจ็บปวด อาการกดดันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งท่านก็คงเคยเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้มาแล้วในอดีต แต่นิสัยของจิตมักจะมีการปรุงแต่งต่อความรู้สึกดังกล่าว ด้วยการพยายามหันไปหาความสุข และหลีกให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งทําให้เกิดความฟุ้งซ่านเร่าร้อนใจอยู่เป็นนิตย์ ขณะนี้ท่านได้เรียนรู้แล้วว่า จะเฝ้าดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดยไม่ปรุงแต่งได้อย่างไร จะตรวจสอบความรู้สึกต่างๆ อย่างมีอุเบกขา โดยไม่เอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างไร
ความเจ็บปวด ความทุกข์ยังคงมีอยู่ การร้องไห้ไม่ได้ช่วยให้คนเราพ้นจากความทุกข์ได้ แล้วเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร และจะอยู่กับความทุกข์นั้นได้อย่างไร
แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยจะต้องรู้ว่า ความเจ็บป่วยนั้นคืออะไร และอะไรเป็นสาเหตุพื้นฐานของความเจ็บป่วยนั้น ถ้ามีสาเหตุ ก็จะต้องมีทางออก โดยการขจัดสาเหตุนั้นออกไป เมื่อสาเหตุของความเจ็บป่วยถูกขจัดออกไป ความเจ็บป่วยก็จะหมดไปด้วยโดยอัตโนมัติ ฉะนั้นเพื่อเป็นการขจัดสาเหตุ เราจึงต้องทําตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ประการแรก เราจะต้องยอมรับสถาพความเป็นจริงของความทุกข์ ความทุกข์นั้นมีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง นี่เป็นสัจธรรมสากล แต่สิ่งนี้จะกลายเป็นอริยสัจได้ก็ต่อเมื่อคนเราเริ่มสังเกตดูความทุกข์โดยไม่มีการปรุงแต่ง บุคคลใดก็ตามที่ประพฤติได้เช่นนี้นับว่าเป็นอริยบุคคล
เมื่อเราเริ่มสังเกตดูอริยสัจข้อแรกคือทุกข์ หรือความจริงเกี่ยวกับความทุกข์แล์ว สาเหตุแห่งทุกข์คือ สมุทัยก็จะปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด เราก็จะได้พิจารณาสมุทัย ซึ่งเป็นอริยสัจข้อที่สองด้วย เมื่อสาเหตุถูกขจัดให้หมดไป ความทุกข์ ก็จะถูกขจัดออกไปด้วย นี่คืออริยสัจข้อที่สามคือ นิโรธ การที่จะขจัดความทุกข์ออกไปได้ ก็จะต้องมีวิธีการ นั่นคืออริยสัจข้อที่สี่หรือ มรรค อันได้แก่ หนทางที่จะดับทุกข์ โดยการขจัดสาเหตุแห่งทุกข์
เราเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ที่จะสังเกตดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทางกายโดยไม่มีการปรุงแต่ง สังเกตดูความเจ็บปวดที่ได้รับด้วยความมีอุเบกขา คือวางใจเฉย เสมือนว่าเป็นความเจ็บปวดของผู้อื่น ตรวจสอบดูความเจ็บปวดนั้นให้เหมือนกับนักวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบการทดลองในห้องปฏิบัติการ หากท่านล้มเหลว ก็ให้พยายามใหม่ พยายามต่อไป แล้วท่านจะได้พบว่า ท่านจะค่อยๆคลายจากความทุกข์
สิ่งมีชีวิตทุกๆชีวิตจะต้องมีความทุกข์ ชีวิตเริ่มต้นด้วยการร้องไห้ การเกิดเป็นความทุกข์อันใหญ่หลวง ผู้ที่เกิดมาจะต้องเผชิญกับความทุกข์อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย และความแก่ แต่ไม่ว่าชีวิตคนเราจะทุกข์ขนาดไหน ก็ไม่มีใครอยากตาย เพราะความตายนั้นจัดเป็นความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ตลอดชีวิต คนเราต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆที่เราไม่ชอบ และก็ยังต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเราชอบอีกด้วย สิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดก็มักเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ต้องการกลับไม่เกิด เหล่านี้ล้วนทําให้เรารู้สึกเป็นทุกข์
การเข้าใจความเป็นจริงนี้เพียงแค่ในระดับเหตุผล ก็ยังไม่สามารถที่จะทําให้คนเราพ้นจากความทุกข์ได้ อย่างมากก็เพียงแต่ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจให้มองเข้าไปในตนเอง เพื่อที่จะได้พบกับความจริงและพบหนทางที่จะพ้นทุกข์เท่านั้น สิ่งที่ เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะ ได้ทรงทําเพื่อการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็คือ การที่พระองค์ ทรงเริ่มสังเกตดูความจริง ภายในกรอบแห่งร่างกายของพระองค์เอง เหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่ทําการค้นคว้าวิจัย โดยค่อยๆสังเกตดูจากสภาพความจริงที่ปรากฏอยู่ทั่วๆไป ไปสู่สภาพความเป็นจริงในระดับที่ลึกลงไป จนกระทั่งถึงสภาพความเป็นจริงในขั้นที่ละเอียดที่สุด พระองค์จึงได้ทรงพบว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเกิดความอยากหรือตัณหาขึ้นมา ไม่ว่าจะเพื่อเป็นการรักษาความรู้สึกที่เป็นสุขเอาไว้ หรือเพื่อที่จะขจัดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ออกไป หากความอยากนั้นมิได้เป็นไปตามความปรารถนา คนเราก็จะเริ่มเป็นทุกข์ และเมื่อพระองค์ได้สังเกตดูต่อไปจนถึงระดับที่ละเอียดที่สุด พระองค์ก็ได้ทรงพบว่า เมื่อเรามองสิ่งเหล่านี้ด้วยใจอันเป็นอุเบกขาแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า ความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานที่มีต่อขันธ์ 5 หรือต่อรูปนาม หรือต่อกายและใจของเรานั้นเป็นทุกข์ ด้วยการคิดพิจารณาจากเหตุผล เราก็พอจะเข้าใจได้ว่า รูปหรือกายนั้นไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีตัวตน ไม่สามารถควบคุมได้ แต่โดยความจริงแล้ว คนทั่วไปก็ยังคงมีความยึดมั่น ถือมั่นในตัวตนอยู่นั่นเอง และในทํานองเดียวกันก็สร้างอุปาทาน ขึ้นกับจิต หรือนามทั้ง 4 ส่วน คือ วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขาร โดยยึดติดอยู่ว่าเป็น “ ตัวเรา ” “ ของเรา ” โดยไม่คํานึงถึงธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของมัน โดยทั่วๆไปมนุษย์เรามักจะใช้คําว่า “ ตัวเรา ” และ “ ของเรา ” อยู่แล้ว และเมื่อมีอุปาทานมายึดติดเข้ากับขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป วิญญาณ สัญญา เวทนา และสังขารด้วย ก็คือการที่เราสร้างทุกข์ให้กับตนเอง ที่ใดก็ตามที่มีการยึดติด ที่นั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ ยิ่งมีอุปาทานหรือการยึดมั่นถือมั่นมากเท่าใด ความทุกข์ก็จะยิ่งมาก ขึ้นเท่านั้น
มีอุปาทานอยู่ 4 อย่าง ที่คนมักจะติดอยู่ตลอดชั่วชีวิต อุปาทานประการแรกก็คือ ความยึดมั่นในกาม หรือ ความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่น่าพอใจ ซึ่งเรียกว่า กามุปาทาน เมื่อใดที่เกิดความอยากในสิ่งเหล่านี้ขึ้นในใจ เวทนาหรือความรู้สึกทางกายก็จะเกิดขึ้นมาด้วย ถึงแม้ว่าจะมีความรู้สึกเดือดร้อนพลุ่งพล่านเริ่มเกิดขึ้นในส่วนลึก แต่โดยผิวเผินคนเราก็ยังชอบความรู้สึกนั้นและอยากให้มีอยู่ต่อไป ซึ่งอาจ เปรียบเทียบได้กับการเกาแผล ทั้งๆที่รู้ว่าจะทําให้แผลอักเสบ แต่คนก็ยังชอบเกา เมื่อสมปรารถนาแล้ว ความรู้สึกที่มาพร้อมกับความอยากหมดไปแล้ว คนก็จะสร้างความอยากขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกันต่อไปอีก แล้วก็จะเริ่มติดความอยากนั้น และเพิ่มความทุกข์ให้กับตนเอง
อุปาทานประการที่สองก็คือ การยึดติดกับ “ ตัวฉัน ” “ ของฉัน ” ซึ่งเรียกว่า อัตตวาทุปาทาน โดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว “ ตัวฉัน ” นั้นคืออะไร คนเรามักจะทนคําวิพากษ์วิจารณ์ความเป็น “ ตัวฉัน ” ไม่ได้ หรือทนไม่ได้ที่จะให้ใครมาทําร้าย “ ตัวฉัน ” และอุปาทานก็ขยายรวมไปถึงอะไรก็ตามที่ “ ตัวฉัน ” เป็นเจ้าของ หรืออะไรก็ตามที่เป็น “ ของฉัน ” อุปาทานนี้จะไม่นํามาซึ่งความทุกข์ ถ้าหากอะไรก็ตามที่เป็น “ ของฉัน ” นั้นจะยังคงมีอยู่ตลอดกาล และ “ ตัวฉัน ” จะยังมีชีวิตอยู่เพื่อมีความสุขกับสิ่งที่เป็นของฉันได้ตลอดกาลเช่นกัน แต่ตามกฎธรรมชาตินั้น ไม่ช้าก็เร็ว คนเราจะต้องตายไป ด้วยเหตุนี้การยึดติดกับสิ่งที่ไม่จีรังย่อมนํามาซึ่งความทุกข์
อุปาทานประการที่สามก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็น และความเชื่อถือของตนเอง ซึ่งเรียกว่า ทิฏฐิปาทาน เรามักจะไม่สามารถทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นหรือความเชื่อของเราได้ หรือแม้แต่จะรับความคิดเห็นของคนอื่นก็ยังยาก คนเรามักไม่เข้าใจว่า คนทุกคนต่างสวมแว่นสีแตกต่างกันคนละสี ถ้าเราสามารถถอดแว่นออกได้ เราก็จะแลเห็นสภาพความจริงอย่างที่มันเป็นอยู่โดยไม่มีการแต่งแต้ม แต่ส่วนใหญ่แล้วคนก็ยังติดอยู่กับสีแว่นของตนเอง ติดอยู่กับแนวความคิดความเชื่อมั่นที่มีอยู่ดั้งเดิมของตน
อุปาทานประการที่สี่ก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในวิธีปฏิบัติแบบแผน หรือพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน เรามักไม่สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเปลือกนอก และไม่ได้มีสาระความเป็นจริงอยู่เลย หากผู้ใดได้เรียนรู้ถึงวิธีการที่จะได้พบกับสัจธรรมภายในกายตนแล้ว แต่ยังคงยึดติดอยู่กับรูปแบบพิธีกรรมภายนอกที่ไร้สาระเหล่านี้ อุปาทานที่ยึดติดอยู่ก็จะทําให้เกิดความลังเลสงสัยขึ้นในตัวผู้นั้น และมีผลให้เกิดความทุกข์
หากเราได้พิจารณาความทุกข์ทั้งหลายในชีวิตให้ถ่องแท้แล้ว เราก็จะพบว่าความทุกข์ต่างเกิดขึ้นจากอุปาทานทั้ง 4 ประการนี้ ซึ่งในการค้นหาสัจธรรมของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงค้นพบสภาพความเป็นจริงในข้อนี้ แม้กระนั้น พระองค์ก็ยังคงสํารวจภายในพระองค์เองต่อไปเพื่อค้นหาต้นตอที่ลึกสุด ของความทุกข์ ให้เข้าใจว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อติดตามไปให้ถึงต้นเหตุแห่งทุกข์
เราจะเห็นได้ชัดว่าความทุกข์ในชีวิต อันได้แก่ ความเจ็บป่วย ความแก่ ความตาย ความเจ็บปวดทางกายและใจ ล้วนแต่เป็นผลมาจาก ชาติ หรือการเกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วอะไรเป็นเหตุแห่งชาติหรือการเกิด แน่นอนที่สุด เหตุที่เห็นได้ชัดก็คือการอยู่ร่วมทางกายภาพของบิดาและมารดา แต่ในแง่ที่กว้างกว่านั้น การเกิดมีขึ้นเนื่องจากกระบวนการที่ไม่มีวันสิ้นสุดของ ภพ ที่ทั่วทั้งจักรวาลจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้แต่เมื่อถึงเวลาตาย กระบวนการนี้ก็ยังไม่จบ แม้ร่างกายจะเน่าเปื่อย แตกสลายไป แต่เมื่อวิญญาณไปเชื่อมโยงกับโครงสร้างทางรูปอย่างอื่น ก็เกิดเป็นภพใหม่ต่อไป แล้วเหตุใดเล่าจึงมีกระบวนการของภพ พระพุทธองค์ทรงเห็นแจ้งว่า สาเหตุก็คือ อุปาทาน ที่เราสร้างขึ้น และเนื่องจากอุปาทาน เราจึงมีการปรุงแต่งที่ เรียกว่า สังขาร ขึ้นมา สังขารหรือการปรุงแต่งนี้จะฝังรากลึก สะสมอยู่ภายในจิต เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สังขาร หรือการปรุงแต่งที่สะสมไว้อันใดอันหนึ่ง ก็จะผุดขึ้นมาภายในจิตใจ และผลักดันวิญญาณให้ดําเนินต่อไป
แล้วอะไรเป็นสาเหตุของอุปาทาน หรือความยึดมั่นถือมั่น พระองค์ทรงพบว่าอุปาทานเกิดจากการปรุงแต่งของตัณหา ซึ่งได้แก่ความชอบ หรือความไม่ชอบ ที่เกิดขึ้นมาในชั่วขณะหนึ่ง ความชอบจะพัฒนาต่อไปเป็นโลภะ และความไม่ชอบจะพัฒนาต่อไปเป็นโทสะ และทั้งสองนี้จะกลายเป็นอุปาทาน แล้วทําไมจึงเกิดการปรุงแต่งของตัณหา ซึ่งได้แก่ความชอบ และความไม่ชอบ ที่เกิดขึ้นมาเพียงชั่วขณะหนึ่ง ทุกคนที่ได้พิจารณาตนเองจะพบว่า การปรุงแต่งเหล่านี้เกิดขึ้นจาก เวทนา หรือความรู้สึกของร่างกาย เมื่อมีสุขเวทนาเกิดขึ้น คนก็จะชอบและต้องการรักษาความรู้สึกนี้ไว้ และอยากจะเพิ่มเติมให้มีมากขึ้น เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น คนก็จะไม่ชอบและต้องการที่จะขจัดมันออกไป แล้วทําไมจึงเกิดมีเวทนาเหล่านี้เล่า แน่นอนที่สุด ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจาก ผัสสะ หรือ สัมผัส ระหว่างประสาทสัมผัสทางใดทางหนึ่งกับวัตถุที่สัมพันธ์กับประสาทสัมผัสส่วนนั้น เช่น ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ หรือสิ่งที่ถูกต้องกาย จิตกับธรรมารมณ์ อันได้แก่ความคิด หรือจินตนาการ ทันทีที่มีผัสสะ หรือสัมผัสเกิดขึ้น เวทนาหรือความรู้สึกก็จะเกิดขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่พอใจ ซึ่งเรียกว่าสุขเวทนาก็ตาม หรือ ความรู้สึกที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเรียกว่าทุกขเวทนาก็ตาม ตลอดจนความรู้สึกที่เป็นกลางๆ ซึ่งเรียกว่าอทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนาก็ตาม
แล้วอะไรเป็นสาเหตุของผัสสะ จักรวาลทั่วทั้งจักรวาลเต็มไปด้วยสิ่งที่ประสาทสามารถสัมผัสได้ เมื่อใดที่สฬายตนะ อันได้แก่ ประสาทสัมผัสทั้งหก คือทางกาย 5 มีตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย กับทางจิต 1 ทํางาน ประสาทสัมผัสเหล่านี้ก็จะไปสัมผัสกับวัตถุที่สัมพันธ์กับประสาทสัมผัสส่วนนั้น แล้วทําไม สฬายตนะ หรือประสาทสัมผัสเหล่านี้จึงมีอยู่ ก็เป็นเพราะว่าประสาทสัมผัสเป็นส่วนที่ติดอยู่กับจิตและกาย หรือนามกับรูปอย่างแยกออกไม่ได้ เมื่อชีวิตเกิดขึ้นประสาทสัมผัสเหล่านี้ก็เกิดขึ้นด้วย แล้วทําไมชีวิตจึงเกิดขึ้น และทําไมจิตและกาย หรือนามและรูปจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะกระแสแห่ง วิญญาณ ที่ดําเนินไป จากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่ง จากชีวิตนี้ไปยังชีวิตหน้า แล้วทําไมวิญญาณจึงดําเนินไป พระพุทธเจ้าทรงพบว่า วิญญาณเกิดขึ้น เนื่องจาก สังขาร หรือการปรุงแต่งของจิต การปรุงแต่งทุกครั้ง จะก่อให้เกิดแรงผลักดันให้วิญญาณดําเนินต่อไป โดยมีการปรุงแต่งเป็นตัวกระตุ้น แล้วทําไมการปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น การปรุงแต่งเกิดขึ้นจากอวิชชา ความไม่รู้จริง คนเราไม่รู้ว่าตนเองทําอะไรอยู่ ไม่รู้ว่ามีการปรุงแต่งอย่างไร ดังนั้นคนเราจึงยังสร้าง สังขารต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ความทุกข์ก็จะยังคงมีอยู่
ต้นตอของความทุกข์คือ อวิชชา หรือความไม่รู้จริงนี่เอง ซึ่งจะก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เป็นลูกโซ่ อันเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ สุมอยู่ภายในตนเอง ถ้าหากขจัดอวิชชาออกไปเสียได้ ความทุกข์ก็จะหมดไป
แล้วจะทําเช่นนั้นได้อย่างไร เราจะทําลายลูกโซ่ของความทุกข์นี้ได้อย่างไร กระแสของชีวิต ของจิตและกาย หรือ นามและรูป ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว การฆ่าตัวตายมิใช่การแก้ปัญหา แต่มันยิ่งก่อความทุกข์ใหม่ขึ้นมาอีก คนเราไม่สามารถทําลาย สฬายตนะ หรือประสาทสัมผัสเหล่านี้ได้โดยไม่ทําลายตนเอง ตราบใดที่ประสาทสัมผัสเหล่านี้ยังมีอยู่ ผัสสะหรือการสัมผัส กับสิ่งต่างๆ ก็จะต้องมีขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่มีการสัมผัสเกิดขึ้น เวทนาหรือความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ย่อมจะเกิดขึ้นภายในกายของเรา
ณ ที่นี้ ที่จุดเชื่อมโยงของความรู้สึกทางกายหรือเวทนา เราสามารถจะทําลายลูกโซ่นี้ได้ ในอดีตความรู้สึกทางกายทุกชนิดที่เกิดขึ้น ทําให้เรามีการปรุงแต่งว่า ชอบ หรือ ไม่ชอบ ซึ่งจะพัฒนาขึ้นมาเป็น โลภะ หรือ โทสะ อันเป็นความทุกข์อันยิ่งใหญ่ แต่ในขณะนี้แทนที่เราจะปรุงแต่งต่อเวทนาหรือความรู้สึกทางกาย เรากําลังเรียนรู้ที่จะเฝ้าดูมันอย่างมีอุเบกขา ด้วยความเข้าใจว่า “ สิ่งนี้ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ” โดยวิธีนี้ เวทนาหรือความรู้สึกทางกายก็จะก่อให้เกิด ปัญญา เกิดความเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ หรือ อนิจจัง เราก็จะหยุดกงล้อแห่งความทุกข์ และ เริ่มหมุนมันใหม่ไปในทางตรงกันข้าม คือมุ่งไปสู่ความหลุดพ้น
ขณะใดก็ตามที่คนเราไม่ได้สร้างสังขาร หรือการปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ สังขาร เก่าที่มีอยู่เดิมก็จะผุดขึ้นมาสู่พื้นผิวของจิต ขณะนั้นเวทนาหรือความรู้สึกทางกายก็จะเกิดขึ้น หากเรายังมีอุเบกขาอยู่สังขารนั้นก็จะดับไป และสังขารเก่าๆอย่างอื่น ก็จะผุดขึ้นมาแทนที่อีก ถ้าเรายังคงรักษาความเป็นอุเบกขาต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้อีก สังขารเก่าๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็จะผุดขึ้นมา แล้วก็ดับไป เป็นเช่นนี้เรื่อยไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หากเรามีการปรุงแต่งต่อความรู้สึกทางกาย เพราะความไม่รู้หรืออวิชชา เราก็จะสร้างสังขาร หรือการปรุงแต่งใหม่เพิ่มเข้าไปอีก เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้มากขึ้น แต่ถ้าเราได้พัฒนาปัญญาของเรา และไม่มีการปรุงแต่งต่อเวทนาต่างๆที่เกิดขึ้น สังขารก็จะถูกขจัดไปเรื่อยๆ ความทุกข์ก็จะถูกขจัดไปด้วยเช่นกัน
เส้นทางตลอดสายนี้เป็นเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์ ด้วยการปฏิบัติ ท่านจะได้พบว่า ท่านได้หยุดสร้างปมใหม่ๆ ขึ้นมาในจิต และปมเก่าๆก็จะคลายออกไปเอง ท่านจะก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่สังขาร หรือการปรุงแต่งอันเป็นต้นเหตุที่นําไปสู่การเกิดใหม่ และนําไปสู่ความทุกข์ ได้ถูกขจัดออกไปจนหมดสิ้น เมื่อนั้นท่านจะเข้าสู่สภาวะของความหลุดพ้น หรือสภาวะนิพพาน
ในการเริ่มปฏิบัติ ไม่จําเป็นว่าเราควรจะเชื่อในเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า การปฏิบัติวิปัสสนาถือว่าปัจจุบันเป็นสิ่งสําคัญที่สุด ในชาติปัจจุบันนี้หากเรายังคงสร้างสังขาร และสร้างความทุกข์ให้กับตนเองอยู่ เราก็จะต้องหยุดนิสัยอันนี้ทันที เพื่อปลดปล่อยตนเองให้พ้นจากความทุกข์ หากท่านได้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งท่านก็จะพูดได้ว่า ท่านได้ขจัดการปรุงแต่งหรือสังขารเก่าๆทั้งหมดออกไปแล้ว และได้หยุดสร้างสังขารใหม่ๆขึ้นมาอีก ซึ่งเท่ากับว่าท่านได้ช่วยให้ตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งสิ้นทั้งปวง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ท่านจะต้องปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง ดังนั้นขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจังในระหว่างเวลา 5 วันที่เหลืออยู่นี้ เพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และมีความสุขจากการหลุดพ้นนั้น
ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน!