การปฏิบัติวิปัสสนา
สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
กรรมฐาน
ในแนวทางของท่านซายาจี อูบาขิ่น
บรมครูในแนวทางนี้
พระอาจารย์เลดีซายาดอว์
1846-1923
เลดี ซายาดอว์หรือพระอาจารย์เลดี เกิดเมื่อปีพ.ศ.2389 ที่หมู่บ้านไซปิน เมืองดิเปยิน อำเภอชเวโบ (คืออำเภอมงยวาในปัจจุบัน) ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ท่านมีนามเดิมในวัยเยาว์ว่าหม่องเท็ตเคา ('หม่อง' เป็นคำเรียกเด็กผู้ชายหรือชายหนุ่มในภาษาพม่า ส่วน 'เท็ต' หมายถึงการไต่ขึ้น สำหรับ 'เคา' นั้นหมายถึงหลังคาหรือยอด) ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะกับท่าน เพราะเด็กชายเท็ตเคาได้ใช้ความพากเพียรพยายามไต่เต้าจนถึงจุดสูงสุดได้จริง
ในหมู่บ้านของท่าน ท่านได้เข้าเรียนโรงเรียนวัด ซึ่งพระภิกษุจะสอนเด็กๆให้อ่านและเขียนในภาษาพม่า และท่องบทภาษาบาลี เพราะโรงเรียนวัดซึ่งมีอยู่แพร่หลายเหล่านี้ ทำให้อัตราการรู้หนังสือของคนในพม่าสูงมาก
เมื่ออายุแปดปี ท่านเริ่มศึกษาวิชาความรู้กับพระอาจารย์อูนันทธัชซายาดอว์ และบรรพชาเป็นสามเณรขณะอายุ 15 ปี โดยได้รับฉายาว่าญาณธัช (ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ) ท่านศึกษาภาษาบาลีและคัมภีร์ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะอภิธัมมัตถสังคหะ อรรถกถาแนะนำพระไตรปิฎกหมวดอภิธรรม
ต่อมาท่านได้แต่งอรรถกถาว่าด้วยอภิธัมมัตถสังคหะ ชื่อว่าปรมัตถทีปนี (คู่มือแห่งปรมัตถสัจจะ) โดยแก้ไขข้อผิดพลาดบางอย่างที่พบก่อนหน้า ทว่าเป็นที่ยอมรับกันในเวลานั้น แม้อรรถกถาดังกล่าวจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในที่สุดสิ่งที่ท่านแก้ไขก็ได้รับการยอมรับจากพระภิกษุรูปอื่นๆ จนทำให้ผลงานดังกล่าวกลายมาเป็นแหล่งอ้างอิงในเวลาต่อมา
กลางศตวรรษที่ 19 ก่อนเข้าสู่ยุคใหม่ ระหว่างที่ยังเป็นสามเณร ท่านจะศึกษาคัมภีร์ในตอนกลางวัน และร่วมสวดมนต์กับพระรวมทั้งสามเณรอื่นๆ ในยามค่ำคืน ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเป็นผู้รอบรู้ในคัมภีร์อภิธรรม
เมื่ออายุ 18 ปี สามเณรญาณธัชได้สึกออกมาใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาสอยู่ช่วงระยะสั้นๆ เพราะไม่พอใจกับการศึกษาที่ได้รับ เนื่องจากรู้สึกว่าถูกจำกัดให้ศึกษาเพียงแค่พระไตรปิฎกเท่านั้น หลังจากนั้นประมาณหกเดือน พระอาจารย์ท่านแรกกับท่านมินทิน ซายาดอว์ พระอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อท่านอีกรูปหนึ่งก็เรียกท่านไปพบ พยายามเกลี้ยกล่อมให้กลับไปใช้ชีวิตในเพศบรรพชิต แต่ท่านปฏิเสธ
ท่านมินทิน ซายาดอว์จึงแนะว่าอย่างน้อยท่านน่าจะกลับไปศึกษาต่อ หนุ่มน้อยหม่องเท็ตเคานั้นฉลาดหลักแหลมและมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้ จึงคล้อยตามคำแนะนำ
"เจ้าสนใจจะศึกษาพระเวท คัมภีร์โบราณของศาสนาฮินดูหรือเปล่า" ท่านมินทิน ซายาดอว์เอ่ยถาม
"ขอรับ ท่านอาจารย์" หม่องเท็ตเคาตอบ
"ถ้าเช่นนั้นเจ้าต้องบวชเป็นสามเณร" ท่านกล่าวตอบ "มิฉะนั้น ท่านอูคันธรรมที่หมู่บ้านเยอูจะไม่ยอมรับเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติ"
"ขอรับ กระผมจะบวชสามเณร," ท่านรับคำ
ด้วยเหตุนี้ ท่านเลดี ซายาดอว์จึงได้กลับมาบวชเป็นสามเณร และนับจากนั้นก็ไม่เคยสึกออกไปอีกเลย ในภายหลังท่านได้สารภาพกับศิษย์คนหนึ่งว่า
ตอนแรก ข้าคิดจะหาเลี้ยงชีพโดยอาศัยความรู้จาก พระเวท ไปทำนายทายทักดวงชะตาผู้คน แต่โชคดีเหลือเกินที่ข้าได้กลับมาบวชเป็นสามเณร อีกครั้ง อาจารย์ของข้านั้นหลักแหลมยิ่งนัก ท่านรั้งข้าไว้ได้ด้วยความรักความเมตตาเหลือคณนา
ในระยะเวลาแปดเดือน สามเณรญาณธัชผู้มีปัญญาล้ำเลิศก็เรียนรู้พระเวทกับท่านคันธรรม ซายาดอว์จนแตกฉาน และศึกษาพระไตรปิฎกต่อ ครั้นเมื่อท่านอายุ 20 ปี ในวันที่ 20 เดือนเมษายน พ.ศ. 2409 ก็ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุจากท่านอูนันทธัชซายาดอว์ ซึ่งกลายมาเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ท่าน
ก่อนเข้าพรรษา ปีพ.ศ.2410 ภิกขุญาณธัชได้กราบลาพระอุปัชฌาย์ เดินทางออกจากอำเภอมงยวา ภูมิลำเนาเดิม เพื่อไปศึกษาต่อที่เมืองมัณฑะเลย์
ซึ่งในรัชสมัยของกษัตริย์มินดงมิน (ครองราชย์ระหว่างปีพ.ศ.2396-2421) นั้น มัณฑะเลย์ถือเป็นเมืองหลวงของพม่า และเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดของประเทศ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนกับพระอาจารย์สำคัญๆ หลายรูป รวมทั้งบัณฑิตที่เป็นฆราวาสด้วย เริ่มแรกท่านพำนักอยู่ที่วัดมหาโชติการาม และศึกษากับท่านซานเจ๊า ซายาดอว์ พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของพม่า ผู้แปลคัมภีร์วิสุทธิมรรคหรือหนทางสู่ความบริสุทธิ์เป็นภาษาพม่า
ในช่วงเวลานี้ ท่านซานเจ๊า ซายาดอว์ได้ออกข้อสอบ 20 ข้อแก่นักเรียน 2,000 รูป มีเพียงภิกขุญาณธัชรูปเดียวเท่านั้นที่สามารถตอบคำถามทุกข้อได้เป็นที่น่าพอใจ ต่อมาในปีพ.ศ.2423 คำตอบดังกล่าวก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อ บารมีทีปนี (คู่มือแห่งบารมี) นับเป็นหนังสือเล่มแรกในจำนวนหลายๆ เล่มที่ท่านเลดี ซายาดอว์เขียนเป็นภาษาบาลีและพม่า
ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ กษัตริย์มินดงมินทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดงานสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ห้าที่เมืองเมืองมัณฑะเลย์เมื่อปีพ.ศ.2414 โดยนิมนต์พระภิกษุจากทั่วประเทศมาร่วมกันสวดชำระพระไตรปิฎก และได้มีการจารึกพระธรรมขันธ์ลงบนแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น ซึ่งยังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน โดยแต่ละแผ่นประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ เรียงรายอยู่รอบโบสถ์ของวัดกุโสดอเชิงเขามัณฑะเลย์ การสังคายนาครั้งนี้ภิกขุญาณธัชได้ช่วยตรวจแก้และแปลข้อสอบอภิธรรมด้วย
หลังจากอุปสมบทเป็นภิกษุมาได้ 8 พรรษา ท่านก็สอบผ่านปริยัติธรรมทั้งหมด และได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีเบื้องต้นที่วัดมหาโชติการาม อันเป็นสถานที่ที่ท่านศึกษานั่นเอง
ท่านยังคงสอนหนังสือและศึกษาหาความรู้อยู่ที่วัดแห่งนี้ต่อมาอีก 8 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ.2425 ขณะอายุ 36 ปี จึงได้ย้ายกลับไปที่มงยวา เวลานั้นมงยวายังเป็นอำเภอเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำชินดวิน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงในด้านการสอนพระไตรปิฎกโดยครอบคลุมทั้งหมด มากกว่าที่จะสอนเพียงบางส่วนเท่านั้น
ท่านต้องเข้าเมืองมาสอนภาษาบาลีให้แก่พระภิกษุและสามเณร แต่ในเวลาเย็นจะข้ามกลับไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำชินดวิน และใช้เวลาค่ำคืนปฏิบัติวิปัสสนาในกุฏิเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากของภูเขาเละปันเดา ถึงจะไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าช่วงนี้ท่านจะเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในพม่า ซึ่งใช้อานาปานสติ (การเฝ้าจดจ่ออยู่กับลมหายใจ) และการสังเกตเวทนา (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกาย)
ปีพ.ศ.2428 อังกฤษเข้ายึดครองพม่าตอนบน และเนรเทศพระเจ้าทีป่อกษัตริย์องค์สุดท้าย ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2421- 2428 ออกนอกประเทศ ปีต่อมาท่านญาณธัชได้เข้าไปปฏิบัติกรรมฐานที่ป่าเลดี ทางตอนเหนือของมงยวา หลังจากนั้นก็มีพระภิกษุทยอยกันมาขอให้ท่านสอนกรรมฐาน ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างวัดขึ้นเพื่อใช้เป็นที่พำนัก และตั้งชื่อว่าวัดเลดีตอว์ยะ อันเป็นที่มาของชื่อเลดี ซายาดอว์ ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มงยวาเจริญเติบโตเป็นเมืองใหญ่ดังเช่นทุกวันนี้ก็เพราะมีผู้คนมากมายพากันหลั่งไหลมาที่วัดของท่านนั่นเอง ถึงแม้ท่านจะสอนผู้ปฏิบัติผู้สนใจจำนวนมากอยู่ที่เลดีตอว์ยะ แต่ก็ยังคงปลีกวิเวกไปปฏิบัติกรรมฐานในกุฎิเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากแม่น้ำเป็นประจำ
หลังจากพำนักอยู่ที่วัดป่าเลดีมากว่า 10 ปี ก็เริ่มมีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการของท่านออกเผยแพร่ งานชิ้นแรกที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2440 คือ ปรมัตถทีปนี (คู่มือแห่งปรมัตถสัจจะ) ส่วนผลงานเล่มที่สองในช่วงนี้ คือ นิรุทธทีปนีภิกขุ
แม้ท่านเลดี ซายาดอว์จะพำนักอยู่ที่วัดเลดีตอว์ยะเป็นส่วนใหญ่ ทว่าบางครั้งก็เดินทางไปทั่วพม่าเพื่อสอนกรรมฐานและปริยัติ ท่านเป็นแบบอย่างของภิกษุสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่ง กล่าวคือ เป็นผู้ที่มีความสามารถทั้งในด้านปริยัติและปฏิบัติ ช่วงที่ท่านเดินทางไปทั่วประเทศนี้ ท่านได้ผลิตงานออกมาจำนวนมาก เช่น ท่านเขียน ปฏิจจสมุปบาททีปนี ภายในเวลาเพียง 2 วัน ระหว่างที่โดยสารเรือจากมัณฑะเลย์ไปยังโปรม โดยไม่มีหนังสืออ้างอิงใดๆ ทว่านั่นก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะท่านมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอยู่แล้ว ในหนังสือชุดคู่มือพุทธศาสนา ท่านได้เขียนคู่มือ อรรถกถา บทความ ฯลฯ ไว้ทั้งหมด 76 ชิ้น แต่ความจริงแล้วมีมากกว่านี้
หลังจากนั้น ท่านยังเขียนหนังสือธรรมะเป็นภาษาพม่าอีกหลายเล่ม ท่านได้กล่าวใว้ว่า ท่านต้องการเขียนให้อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ง่าย แม้ชาวบ้านทั่วๆไปอ่าน ก็สามารถเข้าใจได้ โดยก่อนหน้านี้ การเขียนหนังสือธรรมะให้ฆราวาสอ่านถือเป็นเรื่องผิดปกติ แม้แต่ในการเทศน์ พระภิกษุก็สวดเป็นภาษาบาลียาวๆ แล้วจึงแปลให้ฟังตามตัวอักษร ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ น่าจะเป็นเพราะความมั่นคงในความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ และความเมตตาที่ท่วมท้นของท่านเลดี ซายาดอว์ ทำให้ท่านมีความปรารถนาที่จะเผยแผ่ธรรมะไปสู่ผู้คนทุกหมู่เหล่าในสังคม หนังสือปรมัตถสังเขปของท่าน เป็นการแปลพระอภิธัมมัตถสังคหะออกมาเป็นภาษาพม่า 2,000 บท ท่านได้เขียนขึ้นเพื่อให้คนหนุ่มสาวอ่าน ซึ่งก็ยังคงได้รับความนิยมมาจวบจนทุกวันนี้ ลูกผู้ปฏิบัติของท่านได้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมต่างๆขึ้น เพื่อส่งเสริมการศึกษาอภิธรรม โดยใช้หนังสือเล่มดังกล่าว
ขณะที่เดินทางไปทั่วพม่า ท่านเลดี ซายาดอว์ยังได้เรียกร้องให้ละเลิกการบริโภคเนื้อวัว โดยเขียนหนังสือชื่อ โคมังสมาติกา ชักชวนผู้คนให้หยุดฆ่าวัวมารับประทาน และส่งเสริมการรับประทานมังสวิรัติ
ในช่วงนี้ หลังจากก้าวสู่ศตวรรษใหม่แล้ว ท่านอูโพเท็ตได้มาร่ำเรียนวิปัสสนากับท่านเลดี ซายาดอว์เป็นครั้งแรก จนต่อมาได้กลายเป็นวิปัสสนาจารย์ฆราวาสที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของพม่า และเป็นอาจารย์ของท่านอูบาขิ่น ครูของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
พ.ศ.2454 ชื่อเสียงของท่านเลดี ซายาดอว์ในฐานะปราชญ์ผู้ทรงความรู้และวิปัสสนาจารย์ได้ขจรขจายไปไกล จนรัฐบาลอังกฤษในอินเดียซึ่งปกครองพม่าอยู่ด้วย ได้มอบสมัญญา อัครมหาบัณฑิต ให้ นอกจากนี้ท่านยังได้รับปริญญาดุษฎีบัญฑิตด้านอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยร่างกุ้งด้วย ระหว่างปีพ.ศ.2456-2460 ท่านได้ติดต่อกับนางไรส์-เดวิดส์แห่งสมาคมบาลีปกรณ์ในกรุงลอนดอน และมีการพิมพ์บทแปลที่เกี่ยวกับความคิดเห็นของท่านในเรื่องพระอภิธรรมลงในวารสารของสมาคมบาลีปกรณ์ด้วย
ช่วงบั้นปลายชีวิต สายตาของท่านเริ่มเสื่อมลง เนื่องจากการอ่านหนังสือ ศึกษาค้นคว้า และเขียนตำราในที่ที่มีแสงไม่เพียงพอบ่อยๆ เมื่ออายุ 73 ปี ท่านก็ตาบอด และได้อุทิศชีวิตที่เหลือให้กับการปฏิบัติธรรม ตลอดจนการสอนกรรมฐานแต่เพียงอย่างเดียว ท่านเลดี ซายาดอว์ถึงมรณภาพในปีพ.ศ.2466 ขณะอายุ 77 ปี ที่พิมมะนา ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองมัณฑะเลย์กับกรุงร่างกุ้ง ณ วัดแห่งหนึ่งในจำนวนหลายๆ แห่งที่สร้างขึ้นภายใต้นามของท่าน อันเป็นผลมาจากการที่ท่านเดินทางไปเผยแผ่พระธรรมทั่วประเทศพม่า
ท่านเลดี ซายาดอว์นับเป็นพระที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคของท่านก็ว่าได้ ทุกคนที่ได้เข้ามาสู่หนทางธรรมล้วนแล้วแต่เป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงของพระภิกษุผู้ปราดเปรื่องและทรงธรรมท่านนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยฟื้นฟูวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาอันเก่าแก่ให้นักบวชและฆราวาสได้ปฏิบัติ นอกจากการอบรมวิปัสสนาที่สำคัญยิ่งนี้แล้ว ผลงานทางด้านวิชาการที่มีเนื้อหาครอบคลุมตลอดทุกๆด้าน ยังสั้นกระชับ ชัดเจน และยังช่วยให้ความเข้าใจในการปฏิบัติธรรมกระจ่างชัดขึ้นด้วย
1สมณศักดิ์ ซายาดอว์หมายถึงพระอาจารย์ เดิมเป็นสมญาสำหรับใช้เรียกขานพระเถระที่ถวายข้อธรรมแก่พระมหากษัตริย์ ต่อมาภายหลังใช้เรียกขานพระทั่วไปที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง
2พระอภิธรรม เป็นส่วนที่สามของพระไตรปิฎกภาษาบาลี คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ
3พระไตรปิฎก เป็นชื่อ บาลี หมายถึงคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ๆ คือ หมวด พระวินัยปิฎก (พระวินัยสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี); หมวดพระสุตตันตปิฎก (พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก); และหมวดพระอภิธรรม (ดูคำอธิบายข้อ 2, ด้านบน).