ต่อไปนี้คือบทความแปลมาจากปาฐกถาในหัวข้อ ความโกรธ ที่ท่านนอาจารยโกเอ็นก้ากล่าวแสดงในเวทีเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม 2543
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรารู้สึกโกรธ กฎธรรมชาติมีอยู่ว่า ผู้ที่โกรธคือเหยื่อคนแรกของโทสะนั่นเอง เราจะรู้สึกทุกข์ทรมานในขณะที่โกรธ แต่ถึงกระนั้นโดยส่วนใหญ่แล้ว เราก็ไม่เคยตระหนักว่านั่นคือการทำร้ายตัวเอง และแม้บางคนจะรู้ แต่ก็ไม่อาจหลีกพ้นหรือยับยั้งความโกรธเอาไว้ได้ ลองมาพิจารณากันดูว่าเหตุใดคนเราจึงมีความโกรธ
จะเห็นได้ชัดว่าความโกรธปะทุขึ้นเมื่อมีบางสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น มีบางคนขัดขวางความต้องการของเรา สบประมาทเรา หรือนินทาว่าร้ายเรา สาเหตุทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นตัวจุดชนวนความโกรธ และเป็นเหตุผลชัดเจนที่ทำให้เรารู้สึกเดือดดาล แล้วมันเป็นไปได้หรือที่คนเราจะมีอำนาจมากมาย จนไม่มีใครกล้าพูดหรือทำอะไรที่ขัดแย้งกับเรา เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน แม้แต่ผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ก็ยังต้องพบเจอกับสิ่งที่ไม่พึงประสงค์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ถึงแม้เราจะสามารถห้ามไม่ให้คนๆหนึ่งมาสบประมาทหรือโต้เถียงกับเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถห้ามคนอื่นๆได้ เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงคนทั้งโลกให้เป็นไปตามอย่างที่เราต้องการ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์อันเนื่องมาจากความโกรธได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องค้นหาสาเหตุแท้จริงของความโกรธที่อยู่ภายในตัวเรา แทนที่จะมองออกไปภายนอก
เราต้องทำความเข้าใจกับตัวเองถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เราโกรธเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น ลองทำความเข้าใจด้วยมุมมองของวิปัสสนา ถ้าเราเรียนรู้ศิลปะในการเฝ้าสังเกตความจริงภายในตัวเอง ก็จะประจักษ์ชัดจากประสบการณ์ว่าสาเหตุที่แท้จริงของความโกรธนั้นอยู่ภายในตัวเรา ไม่ใช่ภายนอก
ทันทีที่เราได้ประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาภายนอก จะมีเวทนาเกิดขึ้นที่ร่างกาย และเนื่องจากสิ่งที่มากระทบนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เวทนาที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายอย่างยิ่ง ซึ่งก็ทำให้เรามีปฏิกิริยาตอบโต้ออกไปด้วยความขุ่นเคือง แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างมีอุเบกขา โดยไม่มีปฏิกิริยาปรุงแต่งใดๆ เราก็จะค่อยๆหลุดพ้นจากนิสัยเก่าๆที่ชอบกระพือความโกรธและทำร้ายตัวเองได้ การฝึกวิปัสสนาจะช่วยให้เราพัฒนาความสามารถในการเฝ้าสังเกตเวทนาทุกชนิดที่เกิดขึ้นยังส่วนต่างๆของร่างกายในแต่ละขณะ และสามรถรักษาอุเบกขาเอาไว้ได้โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ นิสัยเก่าๆของเราก็คือ เมื่อมีเวทนาที่น่าพอใจเกิดขึ้น เรามักจะโต้ตอบไปด้วยความชอบและความหลงและเมื่อมีเวทนาที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้น เราก็จะตอบโต้ไปด้วยความโกรธและความชัง แต่วิปัสสนาจะสอนให้เราเฝ้าสังเกตเวทนาทุกชนิดทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจโดยปราศจากอคติ และรักษาอุเบกขาไว้ด้วยความเข้าใจว่าเวทนาทุกชนิดล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่มีเวทนาชนิดใดจะคงอยู่ได้ตลอดไป
การเฝ้าสังเกตเวทนาอย่างมีอุเบกขาครั้งแล้วครั้งเล่า จะช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงนิสัยเก่าๆที่ชอบตอบโต้อย่างไม่รู้เท่าทัน ฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เมื่อใดก็ตามที่เราได้ประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา จะพบว่ามีเวทนาที่ไม่น่าพอใจเกิดขึ้นกับร่างกาย แล้วเราก็จะเริ่มเฝ้าสังเกตดูมันไป โดยไม่ตอบโต้ด้วยความโกรธเหมือนอย่างที่ไม่เคยเป็นอีกต่อไป แน่นอนว่าต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะถึงขั้นที่หลุดพ้นจากความโกรธได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในขณะที่ปฏิบัติไปมากขึ้นๆ เราจะสังเกตเห็นว่า ระยะเวลาของความโกรธที่คุกรุ่นนั้นค่อยๆสั้นลงเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเรายังจะไม่สามารถรับรู้ถึงเวทนาได้ทันทีที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้น 2-3 นาที เราจะเริ่มตระหนักได้ว่า การตอบโต้อย่างไม่รู้เท่าทันด้วยความโกรธ จะทำให้เกิดเวทนาที่ไม่น่าพอใจรุนแรงขึ้น แล้วเราก็จะเป็นทุกข์มากขึ้น ทันทีที่ตระหนักถึงความจริงนี้เราก็จะหลุดพ้นจากความโกรธ การฝึกปฏิบัติวิปัสสนาจึงช่วยให้เรารับรู้ความทุกข์จากเวทนาที่ไม่น่าพอใจได้รวดเร็วขึ้น จนกระทั่งไปถึงขั้นที่เราสามารถตระหนักรู้ถึงพิษภัยของความโกรธที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ในทันที นี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะปลดปล่อยตัวเราจากนิสัยคลุ้มคลั่งที่ชอบตอบโต้ด้วยความโกรธ
แน่นอนว่ายังมีอีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อใดที่รู้ตัวว่าโกรธ เราจะหันเหความสนใจไปที่สิ่งอื่น วิธีนี้อาจทำให้เรารู้สึกหลุดพ้นจากความโกรธ แต่จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นเพียงแค่ในระดับพื้นผิวของจิตเท่านั้น ลึกลงไปภายในความโกรธยังคงคุกรุ่นอยู่ เพราะเราไม่ได้ขจัดมันออกไป เพียงแต่เก็บกดเอาไว้ วิปัสสนาไม่ได้สอนให้เราวิ่งหนีความจริง หากแต่ให้เราเผชิญหน้า และเฝ้าสังเกตความโกรธในใจ รวมทั้งเวทนาที่ไม่น่าพอใจโดยปราศจากอคติ ด้วยวิธีนี้ เราจะไม่หันเหความสนใจไปที่สิ่งอื่น หรือเก็บกดความโกรธเอาไว้ที่ส่วนลึกของจิต ในขณะที่เราเฝ้าสังเกตเวทนาอย่างมีอุเบกขา จะพบว่าความโกรธที่เกิดขึ้นนั้นค่อยๆอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ดับไป
ความจริงก็คือ มีสิ่งที่ขวางกั้นระหว่างจิตส่วนน้อยคือพื้นผิวของจิต (หรือจิตสำนึก) กับจิตส่วนใหญ่ที่เรียกว่าจิตไร้สำนึก จิตส่วนใหญที่อยู่ในระดับลึกที่สุดนี้ จะมีปฏิสัมพันธ์กับเวทนาทางกายอยู่เสมอ และตกเป็นทาสของนิสัยเก่าๆที่ชอบตอบโต้อย่างไม่รู้เท่าทัน ตลอดทั่วร่างกายของเรานั้นมีเวทนาชนิดต่างๆเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ ถ้าเป็นเวทนาที่น่าพอใจ เราก็จะรู้สึกชื่นชอบและหลงใหล ถ้าเป็นเวทนาที่ไม่น่าพอใจเราก็จะรู้สึกขุ่นเคืองและชิงชัง สิ่งที่ขวางกั้นระหว่างจิตทั้งสองส่วนนี้ ทำให้จิตส่วนพื้นผิวไม่อาจรับรู้ความจริงที่ว่า มีปฏิกิริยาตอบโต้เกิดขึ้นในระดับที่ลึกลงไปอยู่ตลอดเวลา วิปัสสนาจะช่วยทำลายสิ่งที่ขวางกั้นดังกล่าว ทำให้โครงสร้างทั้งหมดของจิตตื่นตัว สามารถรับรู้เวทนาได้ทุกขณะอย่างมีอุเบกขาด้วยความเข้าใจในกฎแห่งอนิจจัง เป็นเรื่องง่ายที่จะฝึกจิตในส่วนที่เป็นพื้นผิว ให้ตั้งอยู่บนอุเบกขาด้วยความเข้าใจในระดับเชาวน์ปัญญา ทว่าไม่อาจเข้าถึงจิตส่วนที่อยู่ลึกลงไป แต่เมื่อสิ่งใดที่ขวางกั้นนี้ถูกทำลายลงด้วยวิปัสสนา จิตทั้งหมดจะเข้าถึงกฎของความไม่เที่ยง และนิสัยเก่าๆที่ชอบตอบโต้อย่างไม่รู้เท่าทันในระดับที่ลึกลงไป ก็จะเริ่มเปลี่ยนไป นี่จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ของความโกรธ