ธรรมบรรยายวันที่ 1

ความยากลําบากในเบื้องต้น--วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติกรรมฐานด้วยวิธีนี้--ทําไมจึงใช้อานาปานสติ (การกําหนดลมหายใจเข้าออก)เป็นจุดเริ่มต้น--ธรรมชาติของจิต--สาเหตุของความยากลําบากและวิธีการที่จะจัดการกับความยากลําบากนั้น--อันตรายที่ต้องหลีกเลี่ยง

วันแรกนี้จะเป็นวันที่ยากลําบาก เต็มไปด้วยความไม่สะดวกสบายนานาประการ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่คุ้นเคยกับการที่ต้องนั่งตลอดวันเพื่อปฏิบัติกรรมฐาน แต่ส่วนใหญ่แล้วความลําบากคงเกิดจากการที่ให้สังเกตดูแต่เฉพาะลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว

ถ้าในระหว่างที่นั่งสังเกตดูลมหายใจอยู่นั้น เราได้รับอนุญาตให้สวดมนต์ หรือได้รับอนุญาตให้บริกรรมชื่อของเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์องค์ใดองค์หนึ่ง หรือได้รับอนุญาตให้สร้างจินตนาการให้จิตจดจ่ออยู่ที่รูปของเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งพร้อมกันไปแล้ว ก็จะทําให้การฝึกสมาธิสามารถทําได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า เพราะจิตไปจดจ่ออยู่สิ่งเหล่านั้น และในขณะเดียวกันจิตก็จะลืมนึกถึงความไม่สบายกายต่างๆ อีกด้วย แต่ท่านถูกที่กําหนดให้นั่งสังเกตดูแต่เฉพาะลมหายใจที่เข้าออกตามธรรมชาติโดยไม่ฝืน และไม่มีการท่องบ่นภาวนา หรือไม่มีการสร้างจินตนาการรูปของเทพเจ้าองค์ใดๆประกอบด้วยเลย

การที่กําหนดให้ท่านต้องทำเช่นนั้น ก็เนื่องด้วยจุดมุ่งหมายของวิปัสสนากรรมฐานมิใช่อยู่แค่การทําสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินั้นจะเป็นแต่เพียงบันไดที่จะนําขึ้นไปสู่จุดหมายที่สูงกว่า นั่นก็คือการชําระจิตให้บริสุทธิ์โดยการกําจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองที่อยู่ภายในใจ อันจะนําไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวล และได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

เมื่อใดที่กิเลส เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความหลง ความกลัวเกิดขึ้นในจิตของผู้ใด บุคคลผู้นั้นก็จะตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ และเมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนาขึ้นในชีวิต คนเราก็จะมีความทุกข์และมีอาการเครียด ทําให้เกิดปมจิตขึ้น รวมทั้งเมื่อใดที่ปรารถนาอะไรแล้วไม่สมความปรารถนา เราก็จะมีความทุกข์และเกิดอารมณ์เครียดขึ้นเช่นกัน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นซำ้แล้วซำ้เล่าตลอดชีวิตของเรา ก่อเป็นปมจิตอันยุ่งเหยิงและสับสนจนสางไม่ออก นอกจากนี้เรายังมักไม่เก็บงําความทุกข์และความเครียดไว้แต่ภายในใจ หากแต่กลับสะท้อนเอาความทุกข์เหล่านั้นไปถ่ายทอดให้กับคนรอบข้าง ซึ่งการกระทําเช่นว่านี้มิใช่เป็นการดําเนินชีวิตที่ถูกต้องเลย

การที่ท่านมาฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานครั้งนี้ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ศิลปะของการดําเนินชีวิต ให้อยู่ได้อย่างสงบสุขและกลมกลืนไปกับสภาวะภายในตนเอง ได้เรียนรู้ถึงการสร้างสันติสุขและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบุคคลอื่นๆ ตลอดจนได้เรียนรู้ว่า ทําอย่างไรจึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขในแต่ละวันซึ่งจะทําให้มีการพัฒนาตนเองไปสู่ความสุขอันสูงสุด อันเกิดจากการมีจิตที่สะอาดผ่องใส จิตที่เต็มไปด้วยความรักอันบริสุทธิ์ มีเมตตากรุณา ยินดีในความสําเร็จของผู้อื่นด้วยจิตอันเป็นอุเบกขา

ในการเรียนรู้ศิลปะของการดําเนินชีวิตให้มีความสุข สิ่งแรกที่เราจะต้องค้นหาก็คือ สาเหตุแห่งความทุกข์ ซึ่งมักจะฝังรากอยู่ภายในตัวเราเอง และด้วยเหตุนี้ท่านจึงจําเป็นที่จะต้องค้นหาความเป็นจริงที่อยู่ในตนเอง วิธีการนี้ จะช่วยให้ท่านค้นหาความจริงในตัวของท่านเอง ช่วยให้ท่านได้ตรวจสอบโครงสร้างของกายและจิตของตนเอง ซึ่งเต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทาน อันเป็นสาเหตุของความเครียดและความทุกข์ ในการฝึกวิธีนี้ ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของกายและจิตของเราเองเสียก่อน ซึ่งผลที่ได้รับตามมาจะทําให้เราสามารถพบกับความจริงที่อยู่เหนือกายและจิตได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่จะทําให้เราได้รู้แจ้งเห็นจริง ได้รู้จักตนเอง ได้ตรวจสอบดูความเป็นจริงในตัวเรา และหากคําว่าพระผู้เป็นเจ้าหมายถึงความบริสุทธิ์และหลุดพ้นแล้ว วิธีการนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวิธีการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้เหมือนกัน

การได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่สําคัญมาก การได้รู้จักตนเองโดยเริ่มจากสิ่งที่เรามองเห็นแต่เพียงผิวเผินจากภายนอกไปจนถึงความเป็นจริงที่อยู่ลึกลงไป จนกระทั่งไปถึงความเป็นจริงที่อยู่ลึกที่สุดของกาย(รูป)และจิต(นาม)จะทําให้เราสามารถก้าวขึ้นไปพบกับปรมัตถสัจจะ หรือความจริงอันเป็นที่สุดเหนือรูปและนามได้

ในการค้นหาความจริงหรือสัจธรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวเรานั้น ก่อนอื่นเราต้องเริ่มต้นด้วยการสังเกตความจริงที่เห็นได้ชัดเจนในตัวเราก่อน เช่น การสังเกตลมหายใจเข้าออกเป็นต้น จึงถือได้ว่าการใช้การสังเกตเฉพาะลมหายใจเข้าออกเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานวิธีนี้ สําหรับการใช้คําภาวนา หรือการจินตนาการรูปเทพเจ้า หรือการจินตนาการรูปวัตถุอื่นใด เพื่อช่วยให้เกิดสมาธิได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นนั้น อาจจะก่อให้เกิดภาพลวงตา หรือเกิดจินตนาการที่สับสนซึ่งจะเป็นอุปสรรคทําให้เราไม่สามารถค้นพบความจริงหรือสัจธรรมที่ซ่อนอยู่ในตัวเองได้ นอกจากนั้น การใช้คําภาวนาหรือการใช้รูปเทพเจ้า หรือการใช้รูปวัตถุอื่นใดนั้น อาจจะเป็น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับลัทธิใดลัทธิหนึ่ง หรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ซึ่งอาจจะทําให้คนที่มีพื้นฐานทางลัทธิหรือศาสนา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ยอมรับในวิธีการที่จะต้องใช้คำภาวนานั้น หรือรูปเทพเจ้านั้น หรือรูปวัตถุนั้น เนื่องจากความทุกข์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับชนทุกหมู่เหล่าไม่เลือกลัทธิ ไม่เลือกศาสนา ไม่เลือกวัฒนธรรม ความทุกข์จึงเป็นเรื่องสากล ดังนั้นการหาวิธีดับทุกข์จึงมิใช่เรื่องเฉพาะของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากควรเป็นเรื่องที่ใช้ได้กับชนทุกหมู่เหล่าด้วยเหตุนี้วิธีการสังเกตลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติ จึงเป็นวิธีการที่เป็นสากล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นวิธีการที่เหมาะสมสําหรับชนทุกหมู่เหล่า เพราะทุกคนสามารถที่จะยอมรับและนําไปปฏิบัติจนเกิดผลได้ นอกจากนั้นลมหายใจยังเป็นของธรรมชาติสําหรับทุกคนอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้ว เรารู้เรื่องเกี่ยวกับตัวของเราเองน้อยมาก เราจะรู้ก็แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นภายนอก คืออวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายที่มองเห็นได้ด้วยตา และที่เราสามารถควบคุมการทํางานของมันได้ แต่เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอวัยวะภายใน ซึ่งทํางานอยู่นอกเหนืออํานาจการควบคุมของเรา ยกตัวอย่างเช่นเซลล์ต่างๆในร่างกายของเรา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนี้ปฏิกิริยาทางแม่เหล็กไฟฟ้าและชีวเคมีอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้นและหมุนเวียนอยู่ทั่วร่างกายของเราตลอดเวลา เราก็มิเคยได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเหล่านี้เลย

บนเส้นทางนี้ ท่านจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ท่านไม่รู้เกี่ยวกับตัวเอง โดยอาศัยการสังเกตลมหายใจเข้าออกเป็นตัวช่วย ลมหายใจของท่านจะเป็นเสมือนสะพานเชื่อมความรู้กับความไม่รู้ และเนื่องด้วยการหายใจเข้าออกเป็นส่วนหนึ่งของการทํางานของร่างกาย การหายใจเข้าออกจึงอาจจะเป็นไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ และเป็นไปด้วยความตั้งอกตั้งใจ หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติก็ได้ ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มปฏิบัติให้ถูกต้อง เราควรเริ่มต้นด้วยการสังเกตลมหายใจเข้าออกอย่างตั้งอกตั้งใจ โดยเริ่มจากหายใจแรงๆก่อน แล้วจึงค่อยๆผ่อนเป็นลมหายใจเข้าออกตามธรรมชาติต่อไป จากจุดนี้เราก็จะก้าวหน้าไปสู่สัจธรรมที่ลึกซึ้งภายในกายของเรา แต่ละก้าวที่เราก้าวเดินไป จะเป็นการก้าวไปพร้อมกับความเป็นจริง ในแต่ละวันเราจะได้ค้นคว้าลึกเข้าไปภายในตัวของเราเอง เพื่อให้พบกับความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่ทั้งในร่างกายและจิตใจของเรา

สําหรับวันนี้ เราทุกคนได้ถูกขอให้สังเกตดูลมหายใจเข้าออกแต่เฉพาะทางด้านกายภาพเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันท่านก็มีโอกาสได้สังเกตดูจิตของท่านด้วย เพราะธรรมชาติของการหายใจนั้นจะเชื่อมโยงกับสภาพจิตของแต่ละคนอย่างแนบแน่น เมื่อใดที่เกิดมีกิเลสตัณหาขึ้นในจิตใจ ลมหายใจก็จะผิดปกติ บางคนอาจจะหายใจเร็วขึ้น หนักขึ้น เมื่อความรู้สึกนั้นหมดไป ลมหายใจก็จะนุ่มนวลขึ้นเอง ลมหายใจจึงสามารถนํามาใช้ในการสํารวจความเป็นจริง ซึ่งไม่เพียงแต่ทางร่างกายเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงจิตใจด้วย

ความจริงประการหนึ่งที่เกี่ยวกับจิตของเราที่ได้พบในวันนี้ก็คือนิสัยของจิตที่ชอบท่องเที่ยวไปไม่อยู่นิ่ง ไม่ยอมติดอยู่กับลมหายใจ หรือไม่ยอมติดอยู่กับความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กลับจะคอยวิ่งไปที่โน่นที่นี่

และเมื่อจิตท่องเที่ยวไป จิตไปที่ไหนบ้าง ขณะปฏิบัติ เราจะเห็นได้ว่าจิตท่องเที่ยวไปทั้งในอดีตและอนาคต นี่คือนิสัยของจิต จิตจะไม่ค่อยยอมอยู่กับปัจจุบันซึ่งที่ถูกต้องแล้ว จิตควรจะอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตหรืออนาคต เพราะอดีตนั้นผ่านเลยไปแล้วไม่กลับคืนมา ส่วนอะไรที่เป็นอนาคต ก็ไกลเกินกว่าที่เราจะคาดถึง จนกว่าอนาคตนั้นจะกลับกลายมาเป็นปัจจุบัน  การจดจําอดีตและการคิดถึงอนาคต แม้จะมีความสําคัญ แต่ก็เป็นเพียงส่วนที่ช่วยเราในการดําเนินชีวิตในปัจจุบันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนิสัยของจิตที่คอยแต่จะวิ่งไปที่โน่นที่นี่ได้ฝังลึกมานานแล้ว จิตจึงคอยแต่จะหลบหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ไปสู่อดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นจิตที่ไม่สงบ เร่าร้อน และทุกข์ทรมานอยู่เสมอ วิธีการที่ท่านกําลังเรียนรู้และฝึกปฏิบัตินี้ เรียกว่าศิลปะแห่งการดํารงชีวิต ซึ่งสอนให้ท่านอยู่กับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นก้าวแรกที่จะต้องเรียนรู้ก็คือ ทําอย่างไรจึงจะอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งจะทําได้ก็โดยการทําจิตให้อยู่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นั่นก็คือการระลึกรู้ถึงลมหายใจที่เข้าออกผ่านช่องจมูกหรืออานาปานสติ ซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในทุกขณะ เมื่อใดที่จิตหลุดลอยออกไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ขอให้ยิ้มรับกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่ขุ่นข้อง เพราะนิสัยดั้งเดิมของจิตที่มักจะเป็นเช่นนี้เสมอ ทันทีที่เรารู้ว่าจิตหลุดลอยออกไปท่องเที่ยว จิตก็จะกลับมาระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติโดยอัตโนมัติ

ตามที่ได้ทราบแล้วว่า จิตมีนิสัยชอบท่องเที่ยวไป ทั้งในเรื่องของอดีตและอนาคต ซึ่งความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นแบบใดเล่า วันนี้เราก็ได้ประจักษ์ด้วยตัวเราเองแล้วว่า ความรู้สึกนึกคิดของจิตที่เกิดขึ้นไม่มีลําดับเหตุการณ์ จับต้นชนปลายไม่ถูก พฤติกรรมของความรู้สึกนึกคิดในลักษณะนี้ถือได้ว่าจิตมีลักษณะสับสน ไม่ปกติ ตอนนี้ท่านได้รู้แล้วว่า เราทุกคนมีความสับสน มีความเขลา มีความหลงผิด มีโมหะ หรือสิ่งอื่นๆ ในลักษณะที่คล้ายกัน จะแตกต่างกันก็แต่เพียงว่ามีมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น แม้ว่าเมื่อจิตท่องเที่ยวไปในความรู้สึกนึกคิดที่มีลักษณะเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวที่เราพอใจหรือไม่พอใจก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เราพอใจ จิตก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองและปรุงแต่งว่าชอบ ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความอยากได้หรือโลภะ และความยึดติดหรืออุปาทานอันเป็นราคะกิเลส แต่ถ้าความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นเรื่องราวที่เราไม่พอใจ จิตก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองและปรุงแต่งว่าไม่ชอบ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นความโกรธ ความเกลียด อันเป็นโทสะกิเลส ด้วยเหตุนี้ การชอบท่องเที่ยวของจิต โดยรู้สึกนึกคิดไปในเรื่องราวต่างๆ ดังกล่าว ความนึกคิดนั้นจึงมีทั้งเรื่องที่จิตชอบและไม่ชอบอยู่ตลอดเวลาเป็นสาเหตุที่ทําให้จิตมีปฏิกิริยาปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน และผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้จากการปรุงแต่งก็คือ เกิดความโลภความโกรธ และความหลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวกิเลสที่ทําให้เราเกิดทุกข์

เป้าหมายของการฝึกปฏิบัติกรรมฐานด้วยวิธีอานาปานสตินี้ ก็เพื่อชําระจิตให้บริสุทธิ์ ปลดปล่อยจิตให้พ้นจากความทุกข์ การฝึกปฏิบัติจะช่วยให้สามารถขจัดกิเลสภายในใจออกไปได้เรื่อยๆ เป็นเสมือนการผ่าตัดเข้าไปในระดับลึกถึงจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิต เพื่อขจัดกิเลสที่ซับซ้อนและซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตของเรา แม้เพียงขั้นแรกของการปฏิบัติกรรมฐานด้วยวิธีนี้ ก็จะเป็นการทําจิตให้สงบและบริสุทธิ์ได้ โดยอาศัยการสังเกตลมหายใจเข้าออก ท่านไม่เพียงแต่ทําจิตให้ตั้งมั่นเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการทําจิตให้บริสุทธิ์ด้วย บางทีตลอดทั้งวันนี้อาจจะมีสักสองสามขณะที่จิตมีสมาธิแน่วแน่อยู่กับลมหายใจ ช่วงเวลาดังกล่าวมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเดิมของจิตได้ เพราะขณะนั้นจะเป็นช่วงที่จิตได้ระลึกรู้อยู่แต่กับความเป็นจริงของปัจจุบัน นั่นคือการจดจ่ออยู่กับลมหายใจที่ผ่านเข้าออกทางช่องจมูก สังเกตสภาวธรรมของลมหายใจเพียงอย่างเดียว จิตจะหยุดการปรุงแต่ง ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆ จิตจึงเป็นอิสระพ้นจากกิเลสทั้ง 3 อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง ช่วงขณะนั้นจิตจะมีความบริสุทธิ์และมีพลังแรงกล้า  ความบริสุทธิ์ของจิตสํานึกจะไปกระทบกับกิเลสดั้งเดิมหรืออนุสัยกิเลสซึ่งเป็นความไม่บริสุทธิ์ที่สะสมอยู่ภายในจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิตทําให้เกิดเสมือนหนึ่งแรงระเบิด ก่อความสั่นสะเทือนให้อนุสัยกิเลสที่สะสมเกาะติดอยู่ในสันดานดั้งเดิม หลุดออกจากการยึดเกาะในลักษณะต่างๆ กัน

ในช่วงขณะนั้น เราจะเกิดอาการของความไม่สบายกายไม่สบายใจ อาจเกิดอาการจิตสับสนฟุ้งซ่าน มีความวิตกถึงปัญหาต่างๆ และที่สุดอาจจะเกิดความสงสัยและวิตกกังวลต่อความยากลําบากที่จะปฏิบัติต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นสัญญาณที่บอกให้ทราบว่า การปฏิบัติวิปัสสนา-กรรมฐานได้เดินมาถูกทางแล้ว วิธีการนี้เริ่มให้ผลแล้ว  และการผ่าตัดให้ลึกลงไปในจิตไร้สํานึกได้เริ่มขึ้นแล้ว หนองร้ายที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในร่างกายกําลังจะไหลออกมาจากแผลที่เรื้อรัง วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ไม่ง่าย และไม่สะดวกสบายนัก แต่ก็เป็นวิธีการเดียวที่จะบ่งเอาหนองร้าย หรือกิเลสออกมาได้ หากปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง ความรู้สึกยากลําบากความไม่สะดวกและความไม่สบายก็จะค่อยๆหายไป การปฏิบัต ในวันต่อๆไปก็จะง่ายขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะค่อยๆ หมดไปทีละเล็กทีละน้อย

ไม่มีใครสามารถทํางานนี้ให้กับเราได้ เราจะต้องทําด้วยตัวของเราเอง เราจะต้องค้นหาความเป็นจริงภายในตัวของเราเอง  เราจะต้องปลดเปลื้องกิเลสด้วยตนเอง

ข้อแนะนําบางประการเกี่ยวกับการปฏิบัติ:

ในระหว่างการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เราควรปฏิบัติอยู่แต่ภายในห้องปฏิบัติเท่านั้น หากไปปฏิบัติข้างนอกหรือที่กลางแจ้ง จะทําให้กระทบกับแดดและลม ซึ่งจะเป็นเครื่องรบกวน ทําให้เราไม่สามารถสังเกตลึกเข้าไปภายในจิตใจของเราเองได้อย่างละเอียด แต่ในระหว่างพัก ถ้าอยากจะออกไปเดินข้างนอกก็ได้ แต่ต้องอยู่ภายในบริเวณที่กําหนดให้

ท่านต้องอยู่แต่ภายในบริเวณที่กําหนดให้ ขอให้ระลึกไว้ว่าเมื่อเรากําลังผ่าตัดจิตใจของเราเอง เราก็ควรจะอยู่แต่ภายในบริเวณห้องผ่าตัดเท่านั้น

ขอให้พยายามอยู่ให้ตลอดหลักสูตร ไม่ว่าจะรู้สึกยากลําบากสักเพียงใด หากมีปัญหาเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ ก็ขอให้ระลึกถึงความตั้งใจอันนี้ไว้ให้มั่น เพราะการปฏิบัติอย่างครึ่งๆ กลางๆ อาจเป็นอันตรายกับตัวท่านได้

ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่สําคัญที่สุดคือ กฎเรื่องความเงียบ นอกจากนี้ก็ขอให้ปฏิบัติตามกําหนดตารางเวลาที่ให้ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงปฏิบัติรวม ขอให้มาปฏิบัติร่วมกันที่ห้องปฏิบัติรวมตามที่กําหนดไว้วันละ 3 ครั้งๆ ละ 1 ชั่วโมง ทุกครั้ง

พยายามอย่ารับประทานอาหารมากเกินไป อย่ายอมแพ้ต่อความง่วง และไม่พูดจาโดยไม่จําเป็น

ขอให้ปฏิบัติตามคําสอนแต่ละวันโดยเคร่งครัด ในระหว่างการฝึก ขอให้เลิกคิดถึงสิ่งที่เคยได้อ่าน หรือเคยเรียนรู้มาจากที่อื่น การนําวิธีการต่างๆ มาผสมกันจะทําให้เกิดอันตรายขึ้นได้ หากมีสิ่งใดที่ไม่เข้าใจ ก็ขอให้สอบถามอาจารย์ผู้ฝึกสอนให้เข้าใจชัดเจน เพื่อที่ท่านจะได้รับความสําเร็จ และได้พบกับความสงบสุขอันแท้จริง

ขอให้ท่านใช้เวลานี้ ใช้โอกาสนี้ และใช้วิธีการที่ได้รับการฝึกสอนนี้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อปลดปล่อยตัวท่านเองให้หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลส ตัณหา อุปาทานและได้พบกับความสงบ ความสมดุล และความสุขที่แท้จริง

ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน