ธรรมบรรยายวันที่ 10

ทบทวนเทคนิคการปฏิบัติ

เวลาได้ผ่านไป 10 วันแล้ว เราจงมาดูกันว่าเราได้ทําอะไรไปบ้างในระหว่างเวลา 10 วันนี้ ท่านได้เริ่มการปฏิบัติ ด้วยการถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ในการปฏิบัติดังกล่าว มิได้หมายความว่าท่านได้เปลี่ยนศาสนา สําหรับการปฏิบัติวิปัสสนานั้น การเปลี่ยนของท่านคือการเปลี่ยนจากความทุกข์ไปยังความสุข จากอวิชชาไปสู่ปัญญา จากความเป็นทาสไปสู่การปลดปล่อย คําสอนทั้งหมดเป็นสากล ท่านไม่ได้ยึดถือในตัวบุคคล ลัทธิหรือนิกายใดๆ แต่ท่านยึดถือในคุณสมบัติของการรู้แจ้งเห็นจริง ผู้ใดก็ตามที่ได้ค้นพบวิถีทางแห่งการรู้แจ้งเห็นจริง ผู้นั้นคือพุทธะ และมรรคาที่ท่านผู้นั้นพบคือสิ่งที่เรียกว่าธรรมะ ผู้ที่ปฏิบัติตามมรรคานี้และบรรลุธรรม คือผู้ที่เราเรียกว่าพระสงฆ์ ด้วยความบันดาลใจจากบุคคลเช่นนี้ เราจึงยึดถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือการทําจิตใจให้บริสุทธิ์ ที่พึ่งนั้นแท้ที่จริงก็คือความรู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างปรารถนาที่จะพัฒนาให้เกิดขึ้นในตัวเอง

เมื่อมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะเกิดมีความรู้สึกกตัญญูรู้คุณ และปรารถนาที่จะได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกที่เราเห็นได้จากองค์ พระสิทธัตถะ โคตมะ ผู้ซึ่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าด้วยพระองค์เอง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวโลก พระองค์ได้ทรงสั่งสอนพระธรรมที่ทรงค้นพบแก่เหล่าเวไนยสัตว์

ผู้ที่ได้ปฏิบัติภาวนาตามวิธีการนี้ จะได้รับผลเช่นเดียวกันทุกคน คือสามารถขจัดความยึดมั่นถือมั่น หรืออัตตาดั้งเดิมของตนออกไปได้เป็นบางส่วน ที่พึ่งอันแท้จริงหรือที่ปกป้องคุ้มครองอันแท้จริงนั้น คือธรรมะที่ตัวท่านได้พัฒนาขึ้นในจิตใจ และด้วยธรรมะที่เกิดขึ้นนี้ จะทําให้ท่านเกิดความกตัญญูรู้คุณในองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ทรงค้นพบวิธีการนี้ และได้ทรงสั่งสอนให้เราได้รู้จัก และเช่นเดียวกันก็จะเกิดความกตัญญูรู้คุณต่อผู้ที่ได้ฟันฝ่าเสียสละในการรักษาวิธีการสอนของพระองค์ให้บริสุทธิ์ ดุจดังที่ได้ทรงสอนด้วยพระองค์เองมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 25 ศตวรรษ

ด้วยความเข้าใจดังนี้ ท่านจึงยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ต่อจากนั้นท่านจึงรับศีลห้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นพิธีกรรมอะไร การรับและรักษาศีลห้าก็เท่ากับท่านได้ปฏิบัติศีล คือ จริยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิธีการนี้ หากปราศจากรากฐานที่แข็งแรง การปฏิบัติของท่านก็จะอ่อนแอ ศีลเป็นของสากลมิใช่เป็นเรื่องของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ท่านได้ยอมรับที่จะหลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ไม่ว่าทางกายหรือวาจา ที่จะเป็นการรบกวนผู้อื่น ผู้ที่ทําผิดศีลมักจะเป็นผู้ที่มีจิตไม่บริสุทธิ์ ซึ่งเท่ากับได้กําลังทําลายตนเองอยู่แล้ว และด้วยจิตอันไม่บริสุทธิ์นี้ ผู้นั้นก็จะมีการกระทําที่ไม่บริสุทธิ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้พยายามทําจิตให้บริสุทธิ์เพื่อให้เกิดความสงบอันแท้จริง ท่านไม่อาจทําจิตให้บริสุทธิ์ได้หากท่านยังประพฤติไม่ถูกต้องและมีกิเลสอยู่

ทําอย่างไรเราจึงจะหลุดพ้นจากวงจรอันชั่วร้าย ที่คอยชักนําให้เรามีแต่ความเร่าร้อนใจ และคอยชักนําให้เราก่ออกุศลกรรมซึ่งมักย้อนกลับมาแผดเผาใจของเราเข้าไปอีก หลักสูตรการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้จะให้โอกาสแก่ท่าน เพราะเหตุที่เรามีกําหนดการอันหนักหน่วง มีระเบียบวินัยที่เคร่งครัด มีกติกาในการรักษาความเงียบสงบ และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติท่านจึงแทบจะไม่มีโอกาสทําผิดศีลได้เลยตลอดระยะเวลา 10 วันนี้ ท่านสามารถที่จะรักษาศีลไว้ได้ และด้วยรากฐานอันนี้ ท่านก็จะสามารถพัฒนา สมาธิ และสมาธินี้ก็จะเป็นพื้นฐานในการสังเกตภายในกาย ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถเจาะลึกเข้าไปในจิตและทําจิตให้บริสุทธิ์ได้

ในระหว่างการฝึกปฏิบัติ ท่านได้ปฏิญาณตนรับศีลห้าเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และเมื่อได้เรียนรู้แล้ว ถ้าท่านยอมรับวิธีการและตกลงจะปฏิบัติต่อไป ท่านจะต้องรักษาศีลห้าตลอดชีวิต

ต่อจากนั้น ท่านจึงได้กล่าวมอบตนต่อพระพุทธองค์และอาจารย์ผู้ที่สอนท่านตลอดระยะหลักสูตร 10 วัน การมอบตนนี้ก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้วิธีการนี้ได้พิสูจน์ตัวเอง เพราะผู้ที่ยินยอมมอบตัวโดยสิ้นเชิงเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ที่ใช้ความพยายามอย่างเต็มกําลังในการฝึกปฏิบัติ ผู้ที่มีแต่ความลังเลสงสัย จะไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง แต่กระนั้นก็ตามการยอมมอบตนก็มิใช่หมายความว่า ท่านจะต้องมีความศรัทธาอย่างชนิดไม่ลืมหูลืมตา เพราะนั่นมิใช่ธรรมะ ถ้าท่านมีความสงสัยใดๆ เกิดขึ้นในใจ ท่านควรจะมาพบ และซักถามหาความกระจ่าง ได้จากอาจารย์ของท่านตามความจําเป็น

การยอมมอบตนก็เพื่อรักษาวินัย และตารางเวลาของหลักสูตรด้วย เพราะวินัยและตารางเวลานั้น ได้กําหนดขึ้นจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติเก่าจํานวนมาก ด้วยจุดประสงค์ที่จะทําให้ท่านสามารถปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้รับผลอย่างเต็มที่

การยอมมอบตนเท่ากับท่านได้ยอมรับที่จะปฏิบัติตามคําสอนอย่างเคร่งครัด ท่านจะต้องละทิ้งวิธีการปฏิบัติแบบอื่นๆที่ท่านอาจจะได้เคยฝึกมาก่อน ในชั่วระยะเวลาที่ท่านปฏิบัติตามหลักสูตรนี้ ทั้งนี้เพราะท่านจะได้รับประโยชน์ และสามารถตัดสินคุณค่าของวิธีการนี้ได้ ก็ต่อเมื่อท่านได้ลองปฏิบัติเฉพาะวิธีนี้อย่างถูกวิธี การนําวิธีอื่นเข้ามาปะปน อาจจะนําความยุ่งยากมาสู่ท่าน

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้เริ่มปฏิบัติด้วยการฝึกอานาปานสติเพื่อให้สามารถควบคุมจิตใจ ให้เกิดสมาธิ ท่านได้รับคําแนะนําให้สังเกตเฉพาะแต่ลมหายใจตามธรรมชาติ โดยไม่ให้มีการบริกรรมหรือนึกเป็นภาพหรือรูปใดๆ เหตุที่ต้องมีข้อห้ามดังนี้ ก็เพื่อจะให้วิธีการนี้เป็นสากลอย่างแท้จริง ลมหายใจนั้นเป็นสิ่งปกติธรรมดา และเป็นที่ยอมรับของคนทุกคน แต่คําภาวนา หรือรูปชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจเป็นที่ยอมรับของคนเฉพาะบางหมู่บางพวกเท่านั้น

ยังมีเหตุผลที่สําคัญอีกประการหนึ่งที่จะบอกได้ว่า เหตุใดเราจึงเลือกสังเกตแต่เฉพาะลมหายใจ ทั้งนี้เพราะวิธีการนี้เป็นการสํารวจ หาความจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวของเราเอง คือโครงสร้างของจิตใจ และร่างกายของเราตามสภาวะที่มันเป็นอยู่จริง โดยไม่ถูกครอบงํา ด้วยความยินดียินร้าย การที่ท่านนั่งหลับตาโดยไม่มีเสียง ไม่มี การรบกวนจากภายนอก ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย ก็เท่ากับว่าในช่วงเวลานั้น สิ่งสําคัญที่สุดที่ท่านกําลังทําอยู่ก็คือการหายใจเท่านั้น สิ่งนี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งท่านจะได้เริ่มต้นสังเกตดู ขอให้สังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติที่เข้าออกทางช่องจมูก เมื่อใดที่ท่านไม่อาจจะรู้สึกถึงลมหายใจของท่านได้ ก็อนุญาตให้ท่านหายใจให้แรงขึ้นได้อีกหน่อย แล้วเพ่งความสนใจไปเฉพาะที่บริเวณช่องจมูก จากนั้นก็ให้กลับมาหายใจเบาๆ ตามธรรมชาติ ท่านเริ่มต้นจากความเป็นจริงที่เห็นได้ชัดเจนนี้ และจากนั้นท่านก็จะสามารถขยับเข้าไปสู่ภาวะความเป็นจริงที่ละเอียดขึ้น จนถึงความเป็นจริงอันสูงสุด ตลอดเวลาท่านจะอยู่แต่กับความเป็นจริง และได้พบเห็นความเป็นจริงนั้นด้วยตัวของท่านเอง จากสิ่งที่หยาบที่สุดไปสู่ความเป็นจริงที่ละเอียดที่สุด ท่านย่อมไม่อาจจะเข้าถึงสัจธรรมอันสูงสุดได้ด้วยการเดาหรือใช้ จินตนาการ เพราะนั่นมีแต่จะทําให้ท่านต้องติดอยู่กับจินตนาการที่ขยายออกไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทําให้ท่านคอยเฝ้าแต่จะหลอกตัวเอง

ถ้าท่านมีการท่องบ่นภาวนาคําพูดคําใดคําหนึ่งเพื่อช่วยให้เป็นจุดยึด ท่านก็อาจจะมีสมาธิได้เร็วขึ้น แต่การกระทําดังนี้จะกลับเป็นผลเสีย เพราะคําพูดทุกๆคํามีความสั่นสะเทือนอยู่ในตัวของมันเอง การท่องบ่นถ้อยคําหรือวลีที่ซ้ำๆ กัน จะสร้างความสั่นสะเทือนปลอมๆให้เราหลงติดอยู่ เพราะเป็นการทําให้เกิดมีความรู้สึกสงบสุขขึ้นบนพื้นผิวของจิตใจ ในขณะที่ลึกลงไปความไม่บริสุทธิ์หรือกิเลสจะยังคงอยู่ หนทางเดียวที่จะขจัดกิเลสที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตไร้สํานึกได้ ก็ด้วยการเรียนรู้ที่จะเฝ้าสังเกตดูมัน นํากิเลสขึ้นมาสู่พื้นผิวของจิตสํานึก เพื่อจะได้ทําให้มันสลายตัวไป ถ้าเราสังเกตดูแต่เฉพาะความสั่นสะเทือนที่เราปรุงแต่งขึ้นมา เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นความสั่นสะเทือนตามธรรมชาติของกิเลสต่างๆ อันเกิดจากการสังเกตดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในร่างกาย ดังนั้นถ้าจุดประสงค์ของเราคือการสํารวจความเป็นจริงภายในกายเราเพื่อทําใจให้บริสุทธิ์แล้ว การใช้คําภาวนาก็จะกลายเป็นอุปสรรคได้

ในทํานองเดียวกัน การใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นมา ก็อาจเป็นเครื่องกีดขวางทางก้าวหน้าของท่านด้วย วิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ต้องนําท่านไปสู่การสลายตัวของสมมติสัจจะ หรือความจริงในระดับสมมติ เพื่อให้เข้าถึงปรมัตถสัจจะหรือความจริงอันสูงสุด สมมติสัจจะนั้นเต็มไปด้วยสิ่งลวงตา ทั้งนี้เพราะในสภาวะเช่นนี้ สัญญา คือความจําได้หมายรู้ในอดีต จะทําการปรุงแต่ง ทําให้การรับรู้ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง การรับรู้ที่ต่างไปจากความเป็นจริงดังกล่าว ยังจะทําให้เกิดอคติและความลําเอียงที่จะนําไปสู่การปรุงแต่งใหม่ๆ ต่อไปอีก เมื่อทําลายสมมติสัจจะลงเสียได้ เราก็จะสามารถเริ่มแลเห็นสัจธรรมอันจริงแท้ของนามและรูป หรือใจและกายว่า แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลย นอกจากความสั่นสะเทือนกระเพื่อมไหวที่เกิดดับอยู่ทุกขณะและในช่วงขณะนั้นจะได้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนจากกันเลย ดังนั้นอคติหรือความลําเอียงย่อมไม่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการนี้ สัญญาเก่าๆ ก็จะหมดกําลังลง และสิ่งปรุงแต่งต่างๆก็จะหมดกําลังลงด้วย ซึ่งจะนําเราไปสู่สภาพที่สัญญาและเวทนาดับโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่าสภาวะนิพพาน แต่ถ้าเรามัวแต่ไปให้ความสนใจกับรูปหรือภาพจินตนาการใดๆ เราก็จะติดอยู่แค่สมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมติ และเราจะไม่ก้าวล่วงไปไกลกว่านั้นได้ ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงไม่ควรที่จะสร้างจินตนาการเป็นภาพ หรือมีการท่องบ่นบริกรรมใดๆไม่แตกต่าง

หลังจากที่ได้ฝึกสมาธิ โดยการสังเกตลมหายใจตามธรรมชาติแล้ว เราก็เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อพัฒนาปัญญา คือความรู้แจ้งในธรรมชาติของตนเอง อันเป็นการชําระจิตให้บริสุทธิ์ โดยท่านเริ่มสังเกตดูความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากศีรษะถึงเท้า เริ่มจากบนพื้นผิวภายนอกของร่างกาย แล้วเจาะลึกเข้าไปถึงภายใน ท่านจะต้องเรียนรู้ที่จะสังเกตดูความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งภายนอกและภายในทุกๆ ส่วนของร่างกายของท่านให้ได้

วิปัสสนาคือการสังเกตดูสภาพธรรมตามความเป็้นจริง โดยไม่มีการคิดล่วงหน้า หรือมีอิทธิพลจากความจําจากอดีต เพื่อแยกแยะเอาสมมติสัจจะออกไป ให้เหลือเฉพาะปรมัตถสัจจะ หรือความจริงอันเป็นแก่นแท้ จุดประสงค์ของการขจัดสมมติสัจจะ หรือความเป็นจริงโดยสมมติ ก็เพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติได้หลุดพ้นจากการยึดมั่นในตัวตน เพราะการยึดมั่นในตัวตนนี้คือรากเหง้าแห่งกิเลส อันมีโลภะและโทสะ ซึ่งชักนําให้เราต้องพบกับความทุกข์อันใหญ่หลวง เราอาจยอมรับด้วยเชาวน์ปัญญาของเราว่าตัวตนของเราเป็นแค่สิ่งลวงตา แต่การยอมรับนั้นก็ไม่สามารถดับความทุกข์ ของเราได้ ไม่ว่าเราจะถือศาสนาใดหรือยึดถือในแนวปรัชญาไหนก็ตาม เราจะยังคงมีความทุกข์อยู่ ตราบใดที่เรายังยึดมั่นอยู่ในตัวตนของเรา เพื่อที่จะทําลายความยึดติดอันนี้ เราจะต้องรู้เห็นด้วยตนเองถึงความไม่เที่ยงแท้ของรูปและนาม หรือกายและใจ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยที่เราไม่อาจจะควบคุมได้ ประสบการณ์เช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถละลายอัตตา หรือการยึดติดในตัวตนลงได้ และจะนําไปสู่ทางพ้นทุกข์ คือพ้นจากโลภะและโทสะ

วิธีการนี้จึงเป็นการค้นพบด้วยประสบการณ์โดยตรงของเราเอง ในธรรมชาติที่แท้จริงของตัวตนของเรา สิ่งที่เราเรียกว่าเป็น “ตัวเรา ของเรา” ซึ่งมีอยู่ 2 ด้านด้วยกันคือ กายและใจ หรือรูปและนาม ผู้ปฏิบัติจะต้องเริ่มต้นด้วยการสังเกตความเป็นจริงทางร่างกาย และเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของร่างกาย ด้วยตนเอง ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ร่างกายของตนเองด้วย นั่นก็คือจะต้องมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกที่เกิดขึ้นตลอดทั่วร่างกาย ดังนั้นการสังเกตร่างกาย ซึ่งเรียกว่า กายานุปัสสนา จึงเกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นที่ร่างกาย ซึ่งเรียกว่า เวทนานุปัสสนา ด้วย ในทํานองเดียวกัน เราไม่อาจจะหยั่งรู้ถึง ความเป็นจริงของจิตได้ ถ้าเราไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นภายในจิตใจ ดังนั้นการสังเกตดูจิตซึ่งเรียกว่า จิตตานุปัสสนา จึงจําเป็นที่จะต้องข้องเกี่ยวกับการสังเกตความคิดหรือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ในจิตด้วย ซึ่งเรียกว่า ธรรมานุปัสสนา

แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า เราจะต้องสังเกตดูความคิดทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าท่านทําเช่นนั้น ท่านก็จะหลงวนเวียนอยู่แต่ในความคิดของท่าน จึงขอให้ท่านเพียงแต่สังเกตสภาวธรรมชาติ ของจิตในขณะนั้นว่า กําลังมีความโลภ  ความโกรธ  ความเขลา หรือกําลังขุ่นมัว พระพุทธองค์ทรงค้นพบว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับจิต ความรู้สึกทางกายจะเกิดขึ้นเสมอ ฉะนั้นไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะกําลังสังเกตสภาพกายหรือสภาพจิตของตนเองอยู่ การมีสติคอยกํากับดูความรู้สึกทางกายหรือเวทนาจึงเป็นสิ่งสําคัญยิ่ง

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนี้ ถือเป็นเอกลักษณ์ของ พระพุทธศาสนา และเป็นสิ่งสําคัญที่สุดในหลักคําสอนของพระองค์ ในประเทศอินเดียสมัยก่อนพุทธกาล และแม้ในสมัยของพระพุทธองค์เอง ก็ได้มีการสอนและปฏิบัติกันทั่วไปแล้วเกี่ยวกับ ศีล สมาธิ หรือแม้แต่ ปัญญา ไม่ว่าจะเป็นปัญญาอันเกิดจากศรัทธาหรือเชาวน์ปัญญา และในเวลานั้นก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า กิเลสในจิตคือสาเหตุแห่งความทุกข์ กิเลสคือโลภะ และ โทสะ จะต้องถูกขจัดไปในการทําจิตให้บริสุทธิ์ เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ แต่พระพุทธองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่ค้นพบวิธีการขจัดกิเลสเหล่านี้

สิ่งที่ขาดหายไป ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบ ก็คือความเข้าใจถึงความสําคัญของความรู้สึกทางกายหรือเวทนา ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกับสมัยนี้ที่เข้าใจกันว่า สังขารหรือการปรุงแต่งของเรานั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกที่มากระทบทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือโผฏฐัพพะ และทางความคิดหรือ ธรรมารมณ์ แต่จากการสังเกตสัจธรรมจากภายในกาย เราพบว่า มีช่องว่างระหว่างสิ่งที่มากระทบกับการปรุงแต่งหรือปฏิกิริยาตอบสนอง ซึ่งตัวเชื่อมที่จะปิดช่องว่างนั้นก็คือ ความรู้สึกทางกาย สัมผัสของปัจจัยภายนอกที่มากระทบกับทวารรับความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง เช่น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จะชักนําให้เกิดความรู้สึกทางกาย โดย สัญญา หรือความจําได้หมายรู้จะแยกแยะสิ่งที่มากระทบว่า ดีหรือร้าย ซึ่งจะทําให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นดีหรือร้ายตามไปด้วย   และเราก็จะปรุงแต่งตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น กลายเป็นโลภะ หรือโทสะ กระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นรวดเร็วมาก กว่าเราจะรู้สึกตัว ปฏิกิริยาหรือการปรุงแต่งก็เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งแล้ว และกลับกลายเป็นพลังอันตรายที่มีอํานาจเหนือจิตใจ ถ้าจะจัดการกับการปรุงแต่งให้ทันการ เราจะต้องมีสติกํากับอยู่ตรงจุดที่มันเริ่ม การปรุงแต่งเริ่มจากความรู้สึกทางกายหรือเวทนา ดังนั้นเราจึงจะต้องมีสติกํากับเวทนาการค้นพบสัจธรรมอันนี้ ซึ่งไม่มีใครพบมาก่อนทําให้เจ้าชาย สิทธัตถะ โคตมะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงย้ําถึงความสําคัญของเวทนา หรือความรู้สึกทางกายอันนําไปสู่การปรุงแต่งเป็นโลภะและโทสะ ซึ่งเป็นการนําไปสู่ความทุกข์ แต่ความรู้สึกทางกายหรือเวทนาก็อาจนําไปสู่ปัญญาได้ด้วย โดยจะทําให้เราหยุดการปรุงแต่ง และเริ่มจะหลุดพ้นจากความทุกข์

ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน วิธีการปฏิบัติใดๆ ที่ขัดแย้งกับความมีสติระลึกรู้ถึงความรู้สึกทางกาย วิธีปฏิบัตินั้นนับว่าเป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งสมาธิโดยการบริกรรม หรือนึกถึงรูปใดๆ หรือการ ให้ความสนใจแต่เพียงการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือความคิดที่เกิดขึ้นในจิต ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่อาจจะขจัดความทุกข์ได้ หากไม่ได้เข้าถึงสาเหตุแห่งทุกข์ นั่นคือการเข้าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกายหรือเวทนา

วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามที่พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้ใน สติปัฏฐานสูตร หรือ “ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ” ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือการตั้งสติสังเกตกายหรือ กายานุปัสสนา การตั้งสติสังเกตความรู้สึกที่เกิดกับกายหรือ เวทนานุปัสสนา การตั้งสติสังเกตจิตหรือ จิตตานุปัสสนา และการตั้งสติสังเกต สิ่งที่อยู่ในจิตคือธรรม หรือธรรมานุปัสสนา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตกาย เวทนา จิต หรือธรรม ก็ล้วนมีจุดหมาย ปลายทางเดียวกัน แม้ว่าในการเริ่มปฏิบัติ เราอาจเริ่มได้จากจุดต่างๆกัน แต่ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะเริ่มจากจุดใด ก็จะต้องผ่านสภาวธรรมบางอย่าง ผ่านประสบการณ์บางชนิด ก่อนที่จะถึงจุดหมายปลายทางทั้งสิ้น และประสบการณ์ดังกล่าวซึ่งมีความสําคัญมากในการปฏิบัติวิปัสสนา จะมีอธิบายไว้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในตอนจบของแต่ละส่วนของสติปัฏฐานสูตร

ประสบการณ์แรกที่เราจะได้พบคือ การได้เห็นการเกิดหรือสมุทัย และการดับหรือ วยา ที่แยกออกจากกัน ในระยะเวลานี้ผู้ปฏิบัติจะมีสติระลึกรู้ถึงสภาพความรู้สึกประเภทหยาบๆ ในร่างกาย เช่น ความรู้สึกปวด เมื่อย ตื้อ ทึบ ตึง แล้วก็จะมีความรู้สึกเช่นนั้นอยู่สักระยะหนึ่ง และในที่สุดความรู้สึกเช่นนั้นก็จะดับไป

ต่อมาเมื่อพ้นสภาวะนี้ไปแล้ว เราก็จะเจาะเข้าไปถึงในขั้นตอนของ สมุทัย วยา ซึ่งเราจะรู้สึกถึงการเกิดและดับที่ติดต่อกันไป อย่างต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ความรู้สึกหยาบเช่น ปวดเมื่อย ตื้อ ทึบ ตึง จะค่อยๆ สลายไป กลายเป็นความรู้สึกที่ละเอียด เป็นความสั่นสะเทือนกระเพื่อมไหวที่เกิดขึ้นและดับไปด้วยความรวดเร็วยิ่ง แล้วความเป็นตัวตนของรูปและนามจะหายไป อารมณ์และความรู้สึกที่หยาบจะกลับละลายกลายเป็นเพียงความสั่นสะเทือน นี่คือขั้นตอนของภังคะหรือการสลายตัวซึ่งทําให้เราได้รู้แจ้งถึงปรมัตถสัจจะหรือความจริงอันสูงสุดเกี่ยวกับรูปและนาม ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นรูปเป็นร่าง

ภังคะ นี้เป็นสภาวะที่สําคัญมากบนมรรคาแห่งความหลุดพ้นเพราะการได้พบเห็นการแตกดับของโครงสร้างทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น จึงจะทําให้ความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของเราหมดไปได้ แล้วเราก็จะวางเฉยได้ในทุกสถานการณ์นั่นคือเราได้เข้าสู่ขั้นตอนของ สังขารุเปกขา ความวางเฉยใน สังขาร กิเลสซึ่งซ่อนลึกอยู่ภายในจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิต ก็จะปรากฏขึ้นบนพื้นผิวของจิต ปรากฏการณ์นี้ไม่ถือว่าเป็นการถอยหลังในการปฏิบัติ หากแท้จริงแล้วเป็นความก้าวหน้า เพราะถ้ากิเลสไม่ผุดขึ้นมาบนพื้นผิวของจิตสํานึก เราก็จะไม่สามารถขจัดมันออกไปได้ เมื่อมันเกิดขึ้น เราก็สังเกตดูด้วยความเป็นกลางรู้เท่าทันถึงสภาวะอันไม่เที่ยง มันก็จะดับไปครั้งแล้วครั้งเล่า เราใช้ความรู้สึกที่หยาบ เช่น ความปวดเมื่อย ตึง ทึบ ไม่สุขสบายเป็นเครื่องมือในการขจัดโทสะกิเลสในกองสังขารเก่าๆ และเราใช้ความรู้สึกที่ละเอียดเบาสบายเป็นเครื่องมือในการขจัดกิเลสในกองสังขารเก่าโลภะ ดังนั้นด้วยการรักษาสติ และด้วยการวางเฉยในทุกสถานการณ์ เราก็จะสามารถทําจิตของเราให้บริสุทธิ์ เป็นอิสระจากกิเลสที่ซ่อนอยู่ลึกภายใน ซึ่งจะทําให้เราสามารถเข้าไปใกล้จุดหมายปลายทาง คือ นิพพาน คือการหลุดพ้น

ไม่ว่าจะเริ่มปฏิบัติจากจุดใด เราก็จะต้องผ่านสภาพธรรมที่กล่าวมาแล้ว เพื่อไปให้ถึงนิพพาน การจะไปถึงจุดหมายปลายทาง ได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ และความมากน้อยของการสะสมสังขารในอดีต ที่เราจะต้องหมั่นขจัดออกไป

ในทุกกรณีและทุกสถานการณ์ การวางเฉยหรือการวางอุเบกขานั้นมีความสําคัญยิ่ง แต่เราต้องมีสติกํากับการสังเกตเวทนาประกอบกันด้วย สังขารหรือการปรุงแต่งของจิตนั้นเกิดจากความรู้สึกทางร่างกาย หากท่านวางเฉยต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นเท่ากับว่า ท่านได้ป้องกันไม่ให้เกิดสังขารใหม่ และยังได้ขจัด สังขารเก่าออกไปด้วย ฉะนั้นการสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นด้วยความเป็นกลาง จะทําให้ท่านค่อยๆ ก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางของการหลุดพ้นจากความทุกข์

ขอให้ท่านปฏิบัติด้วยความจริงจัง อย่าเล่นเกมปฏิบัติภาวนาด้วยการลองวิธีโน้นวิธีนี้ร่ำไป โดยไม่ปฏิบัติจริงๆ จังๆ ในวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านทําเช่นนั้น ท่านจะไม่มีวันก้าวไปไกลเกินกว่าจุดเริ่มต้นของวิธีปฏิบัติเหล่านั้น และท่านก็จะไม่มีวันไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ท่านอาจจะทดลองปฏิบัติวิธีต่างๆ จนกว่าจะพบวิธีที่เหมาะกับตัวท่าน และท่านก็อาจจะทดลองปฏิบัติตามวิธีนี้ดูสัก 2-3 ครั้งก็ได้ ถ้าจําเป็น แต่อย่าเสียเวลาชีวิตของท่านไปในการทดลองวิธีต่างๆ ไม่รู้จบสิ้น เมื่อไรที่ท่านได้พบกับวิธีที่เหมาะสมกับท่านแล้ว จงลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อท่านจะได้ก้าวไปถึงจุดหมายสุดท้ายของชีวิต

ขอให้ผู้ที่มีความทุกข์ทั้งหลายจงพบหนทางไปสู่ความหลุดพ้น

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน