การปฏิบัติวิปัสสนา
สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า
กรรมฐาน
ในแนวทางของท่านซายาจี อูบาขิ่น
ธรรมบรรยายวันที่ 4
คําถามเกี่ยวกับการฝึกวิปัสสนา--กฎแห่งกรรม--ความสําคัญของมโนกรรม--สี่องค์ประกอบของนาม: วิญญาณ สัญญา เวทนา สังขาร--การดํารงสติสัมปชัญญะและอุเบกขา คือหนทางแห่งการพ้นทุกข์
วันที่ 4 เป็นวันที่สําคัญมากอีกวันหนึ่ง ท่านได้เริ่มพาตัวเข้าไปอยู่ในกระแสของธรรมะแล้ว ด้วยการค้นหาสภาพธรรมในตนเอง ในระดับที่เป็นความรู้สึกทางกายหรือเวทนา ที่ผ่านมาเนื่องจากอวิชชาหรือความไม่รู้ จึงทำให้เวทนาหรือความรู้สึกทางกายเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ความจริงนั้นเวทนายังสามารถเป็นเครื่องมือในการขจัดความทุกข์ได้เช่นกัน ท่านได้เริ่มเดินก้าวแรกไปบนวิถีทางแห่งความหลุดพ้นแล้ว ด้วยการเรียนรู้ที่จะสังเกตเวทนา หรือความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น แล้ววางเฉย หรือรักษาความ เป็นอุเบกขาต่อเวทนานั้นไว้
คำถามที่มักจะได้รับเกี่ยวกับเทคนิคการปฏิบัติก็คือ
ทําไมจึงต้องสังเกตส่วนต่างๆทั่วร่างกายไปตามลําดับ และทําไมจึงต้องทําไปตามลําดับแบบนี้ คําตอบ จะสังเกตไปตามลําดับแบบใดก็ได้ แต่จะต้องสังเกตให้เป็นระเบียบเป็นลําดับๆไป เพราะมิฉะนั้นอาจมีการละเว้นการสังเกตบางส่วนของร่างกาย และส่วนที่ไม่ได้มีการสังเกตนี้ก็จะถูกปล่อยให้เป็นจุดบอดและว่างเปล่า ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วเวทนาหรือความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นทั่วร่างกาย และหลักสําคัญของวิธีการนี้ก็คือจะต้องให้สามารถรู้สึกถึงเวทนาหรือความรู้สึกได้ในทุกๆส่วนทั่วร่างกาย ฉะนั้นการสังเกตไปทีละส่วนๆเป็นลําดับไปจึงช่วยได้มาก
ถ้าหากสังเกตส่วนใดของร่างกายแล้วไม่มีความรู้สึก ท่านอาจจะต้องเพ่งความสนใจให้อยู่ที่ส่วนนั้นสัก 1 นาที เพราะตามความเป็นจริงแล้วความรู้สึกจะต้องมีอยู่ทุกส่วนของร่างกาย แต่บางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจจะละเอียดมากจึงทําให้ไม่อาจรับรู้ได้ บริเวณนี้จึงดูเหมือนเป็นจุดบอด ให้หยุดสังเกตดูสัก 1 นาที สังเกตดูอย่างสงบเงียบ และมีอุเบกขา อย่าสร้างความอยากที่จะให้เกิดความรู้สึกขึ้น หรือมีโทสะต่อการที่ไม่อาจจับความรู้สึกได้ เพราะถ้าท่านทําเช่นนี้ จิตก็จะศูนย์เสียความสมดุล และจิตที่ไม่สมดุลจะไม่ว่องไว ท่านจะไม่สามารถจับความรู้สึกที่เกิดในส่วนลึกได้ แต่หากจิตของท่านยังรักษาความสมดุลย์ไว้ได้ จิตก็จะเฉียบแหลมและว่องไวมากขึ้น สามารถจับความรู้สึกที่ละเอียดขึ้นได้ ขอให้สังเกตที่ตรงบริเวณนั้นอย่างมีอุเบกขา สัก 1 นาที อย่าให้มากกว่านั้น ถ้าหากภายใน 1 นาที ยังไม่ปรากฏความรู้สึกใดๆ ก็จงยิ้มรับ แล้วย้ายไปสังเกตส่วนอื่นต่อไป รอบต่อไปก็กลับมาสังเกตที่ส่วนนั้นใหม่อีก 1 นาที ไม่ช้าก็เร็ว ท่านก็จะจับความรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ตรงนั้นหรือที่ไหนๆ ทั่วทั้งร่างกาย แต่ถ้าท่านสังเกตอยู่ 1 นาที แล้วยังไม่สามารถจับความรู้สึกได้ ก็ขอให้พยายามจับความรู้สึกที่เกิดจากสัมผัสของเสื้อผ้าในบริเวณนั้นแทน ถ้าส่วนนั้นมีเสื้อผ้าปกคลุมอยู่ หรือจับความรู้สึกที่เกิดจากสัมผัสของบรรยากาศ ถ้าบริเวณส่วนนั้นไม่มีเสื้อผ้าปกคลุมอยู่ จงเริ่มต้นจากเวทนา หรือความรู้สึกที่พื้นผิวกายก่อน แล้วท่านจะค่อยๆรับรู้ถึงเวทนาในส่วนอื่นๆต่อไปได้
<|>ถ้าในขณะที่กําลังเพ่งความสนใจไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่กลับมีความรู้สึกเกิดขึ้นในส่วนอื่น เราควรย้ายไปสังเกตส่วนที่มีความรู้สึกอย่างชัดเจนนั้นหรือไม่ คําตอบ ไม่ควร ขอให้เคลื่อนความสนใจไปตามลําดับ แต่ก็อย่าพยายามหยุดความรู้สึกที่ชัดเจนในส่วนอื่นของร่างกายนั้น--ซึ่งท่านไม่สามารถทำได้--จงปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน แล้วค่อยมาสังเกตมัน ต่อเมื่อท่านเคลื่อนไปถึงส่วนนั้นเท่านั้น ขอให้ทําไปตามลําดับ การสังเกตข้ามไปข้ามมาแต่เฉพาะส่วนที่เกิดความรู้สึกชัดเจนนั้น จะทําให้ท่านละทิ้งส่วนต่างๆหลายส่วนในร่างกาย สังเกตได้เฉพาะความรู้สึกที่หยาบ ท่านจะต้องหัดให้ตนเองรู้จักสังเกตความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นในทุกส่วน ไม่ว่าจะหยาบหรือละเอียด สบายหรือไม่สบาย ชัดเจนหรือ เลือนราง ดังนั้นจงอย่าปล่อยให้ความสนใจของท่านกระโดด ข้ามไปมาจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนหนึ่ง
<|>จะต้องใช้เวลานานเท่าใดในการสังเกตทุกๆส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะไปจรดเท้า คําตอบ การใช้เวลาจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ข้อกําหนดก็คือให้เพ่งความสนใจอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน และเมื่อท่านได้รับรู้ความรู้สึกในส่วนนั้นแล้ว ก็ให้ย้ายความสนใจไปยังส่วนที่ถัดไป เมื่อจิตมีความแหลมคมพอ จิตก็จะรับรู้ความรู้สึกทันทีที่ย้ายไปถึงส่วนนั้น และท่านก็จะสามารถย้ายไปยังส่วนต่อไปได้เลย หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปทั่วร่างกาย การสํารวจความรู้สึกจากศีรษะไปจนถึงเท้าก็อาจจะใช้เวลาเพียง 10 นาที แต่ในขั้นนี้ไม่ขอแนะนําให้เคลื่อนความสนใจผ่านไปเร็วนัก ในกรณีที่จิตยังไม่ว่องไว ในการสังเกตความรู้สึก อาจมีหลายๆบริเวณที่จําเป็นจะต้องคอยถึง 1 นาที จึงจะปรากฏมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อาจจะใช้เวลาถึง 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง ในการรับรู้ความรู้สึกตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เวลาที่จะต้องใช้ในการสํารวจแต่ละรอบจึงไม่ใช่สิ่งสําคัญ ขอเพียงแต่ให้ปฏิบัติ ด้วยความอดทน และเพียรพยายาม ท่านก็จะประสบความสําเร็จ อย่างแน่นอน
บริเวณที่จะเพ่งความสนใจควรจะมีขนาดกว้าง ใหญ่ สักเพียงใด คําตอบ กะให้กว้างประมาณ 2 หรือ 3 ตารางนิ้ว แล้วย้ายต่อไปในบริเวณขนาดเท่าเดิม ทําเช่นนี้เรื่อยไป ถ้าจิตยังไม่ว่องไว ก็ให้เพ่งไปยังบริเวณที่มีขนาดกว้างกว่านี้ เช่น ใบหน้าทั้งหน้า หรือแขนขวาส่วนบนทั้งหมด แล้วจึงค่อยๆพยายามลดขนาดบริเวณที่สํารวจลง ต่อไปท่านจะสามารถรู้สึกถึงเวทนา ที่เกิดขึ้นในทุกส่วนของร่างกาย แต่ในขณะนี้ บริเวณที่มีขนาด ประมาณ 2 หรือ 3 ตารางนิ้ว จะกําลังพอเหมาะ
เราควรจะรับรู้ความรู้สึกแต่เพียงผิวกายภายนอก หรือความรู้สึกภายในร่างกายด้วย คําตอบ บางครั้งผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกภายในร่างกายได้ในทันทีที่เริ่มนั่ง แต่บางครั้ง เมื่อเริ่มปฏิบัติ ก็อาจจะรับความรู้สึกได้แต่เพียงผิวกายภายนอก เท่านั้น จะเป็นอย่างไรก็ได้ ต่างก็ถูกต้องทั้งนั้น ถ้าเวทนาปรากฏแต่เพียงบริเวณพื้นผิวกายภายนอก ก็ให้สังเกตเวทนาเฉพาะบนพื้นผิวกายภายนอกซ้ำๆกัน จนท่านสามารถรับรู้เวทนาได้ทุกส่วนของผิวกายภายนอก เมื่อมีประสบการณ์ในการรับรู้ความรู้สึกของผิวกายภายนอกได้ทุกส่วนแล้ว ต่อไปท่านจะเริ่มเจาะลึกลงไปภายในได้เอง จิตจะค่อยๆพัฒนาความสามารถในการรับรู้เวทนาในทุกๆส่วน ทั้งภายนอกและภายใน ทุกๆส่วนที่เป็นโครงสร้างทางกายภาพ แต่ในขั้นเริ่มต้นนี้ ขอให้สังเกตเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นผิวกายก็พอแล้ว
วิธีการนี้จะทำให้รู้แจ้งในเรื่องของเวทนาทั้งหมด ซึ่งจะนําท่านไปสู่ความจริงอันสูงสุดที่อยู่เหนือเวทนาทั้งปวง หากท่านเพียรพยายามทําจิตให้บริสุทธิ์ โดยใช้การรับรู้ถึงเวทนาเข้ามาช่วย ท่านก็จะบรรลุถึงธรรมะอันสูงสุดได้อย่างแน่นอน
เมื่อคนเรามีอวิชชา คือความไม่รู้ ความรู้สึกหรือเวทนาที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ไปเพิ่มความทุกข์ เพราะเราจะมีการปรุงแต่งตอบสนองต่อเวทนาเหล่านี้ด้วยความชอบหรือไม่ชอบ ปัญหาก็จะเกิดขึ้น ความตึงเครียดก็จะเกิดขึ้นที่ระดับของเวทนา หรือความรู้สึกทางกายนั้นเอง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องทำที่ขั้นตอนนี้ เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของจิต เราจะต้องฝึกฝนตนเองให้รับรู้ถึงเวทนาต่างๆที่เกิดขึ้น โดยไม่มีการปรุงแต่งตอบโต้ใดๆทั้งสิ้น โดยการยอมรับธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลง ความไม่มีตัวตน การปฏิบัติเช่นนี้จะทําให้เราหลุดพ้นจากนิสัยที่มีแต่การปรุงแต่งอย่างมืดบอดต่อความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้น แล้วเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์
เวทนาคืออะไร คําตอบ ความรู้สึกใดก็ตามที่คนเรารู้สึกได้ทางกายล้วนเป็น เวทนา--คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางกายตามธรรมดา ตามปกติ และตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสบายหรือไม่สบาย ความรู้สึกหยาบหรือละเอียด เป็นความรู้สึกรุนแรงหรืออ่อนเบา จงอย่าไปละเลยต่อเวทนาที่เกิดขึ้น โดยคิดไปว่าเกิดขึ้นเพราะสภาพบรรยากาศ หรือเกิดจากการนั่งนานๆ หรือเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บที่เคยเป็นอยู่ ไม่ว่าจะคิดว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ความเป็นจริงก็คือ ท่านได้รู้สึกถึงเวทนาขึ้นมาแล้ว ในอดีตท่านเคยพยายามที่จะขจัดความรู้สึกที่ไม่สบายหรือทุกขเวทนาออกไป และดึงเอาความรู้สึกที่สบายหรือสุขเวทนาเข้ามาแทนที่ ในตอนนี้ ขอให้ท่านเพียงแต่เฝ้าดูอย่างเป็นกลาง โดยไม่พยายามไปยึดติด กับความรู้สึกเหล่านั้น
ในการเฝ้าดูนี้จะต้องไม่มีการเลือกเฟ้น จงอย่าพยายามเลือกเฟ้นหาความรู้สึกใดๆ ขอให้ท่านยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หากท่านเริ่มเลือกเฟ้นหรือมองหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ ท่านก็จะสร้างความยุ่งยากให้กับตนเอง และจะไม่สามารถก้าวหน้าไปบนทางสายนี้ได้ การปฏิบัติตามวิธีการแบบนี้ มิใช่เพื่อให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเป็นพิเศษ แต่มุ่งที่จะฝึกให้มีอุเบกขาต่อความรู้สึกทุกชนิดที่เกิดขึ้น เมื่อก่อนท่านอาจจะมีความรู้สึกแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในร่างกาย แต่ท่านไม่ได้ให้ความสนใจกับมันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ท่านยังได้ปรุงแต่งตอบสนองความรู้สึกเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ มาบัดนี้ท่านกําลังเรียนรู้ในการที่จะรับรู้ถึงเวทนาหรือความรู้สึกเหล่านั้น โดยไม่ปรุงแต่งใดๆ รู้สึกถึงสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นทางกาย และรักษาความเป็นอุเบกขาไว้
หากท่านปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป ท่านจะค่อยๆเข้าใจในกฎของธรรมชาติทั้งหมดทีละเล็กทีละน้อย นี่คือความหมายของ ธรรมะ ธรรมะคือธรรมชาติ คือกฎของธรรมชาติ คือสัจธรรม ในการเข้าถึงสัจธรรมด้วยตัวเองนั้น เราจะต้องตรวจสอบเข้าไปภายในขอบเขตของร่างกายของเราเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ พระสิทธัตถะ โคตมะ ได้ทรงปฏิบัติ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทําให้พระองค์เข้าพระทัยในธรรมะได้อย่างชัดเจน และสิ่งนี้ก็จะกระจ่างชัดสําหรับทุกคนเช่นกัน ถ้าได้ปฏิบัติอย่างพระองค์เราจะได้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ตลอดทั่วทั้งจักรวาล มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับทั้งภายในร่างกายและภายนอกร่างกายของเรา ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นและคงสภาพอยู่ได้ตลอดไป ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับ--ภว หรือภพ แล้วความเป็นสัจธรรมอีกประการหนึ่งที่จะปรากฏชัดขึ้นมาก็คือ จะไม่มีสิ่งใดในโลกที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุบังเอิญ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่บนปัจจัยของเหตุและผล ซึ่งผลจะนําไปสู่ปัจจัยของเหตุต่อเนื่องกันไปไม่มีวันสิ้นสุด แล้วสัจธรรมที่จะปรากฏขึ้นมาอีกประการหนึ่งก็คือ เหตุเป็นเช่นใด ผลก็เป็นเช่นนั้น เหมือนเมล็ดพืชมีคุณสมบัติ อย่างไร ย่อมให้ผลออกมาอย่างนั้น
ในพื้นดินเดียวกัน หากเราปลูกพันธุ์พืชลงไป 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเป็นพันธุ์อ้อย อีกชนิดหนึ่งเป็นพันธุ์ต้นสะเดา พันธุ์อ้อยที่ปลูกลงไป ก็จะงอกงามและเติบโตเป็นต้นอ้อยที่มีรสหวาน เหมือนเผ่าพันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์สะเดาที่ปลูกลงไปในที่ดินผืนเดียวกันนี้ ก็ย่อมจะเติบโตเป็นต้นสะเดาที่มีรสขมเหมือนเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมเช่นกัน บางคนอาจถามว่าทําไมธรรมชาติจึงเลือกที่รักมักที่ชัง โดยมีเมตตาต่อต้นอ้อย แต่โหดร้ายต่อต้นสะเดา แท้ที่จริงแล้วธรรมชาติย่อมเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ถ้าเราปลูกพันธุ์พืชที่มีความหวาน ผลที่เก็บเกี่ยวได้ก็ย่อมจะหวาน ถ้าปลูกพันธุ์พืชที่มีความขม ผลที่เก็บเกี่ยวได้ก็ย่อมจะขม พันธุ์พืชเป็นเช่นใด ผลก็จะออกมาเป็นเช่นนั้น ในทํานองเดียวกัน ถ้าทํากรรมใดไว้ ผลของกรรมก็จะปรากฏเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ปัญหาคือคนเรามักระมัดระวังและสนใจก็แต่เฉพาะในเวลาเก็บเกี่ยวเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเราหวังจะได้ผลที่มีรสหวาน แต่ในระหว่างที่ปลูกพืช เรากลับไม่ระมัดระวังและไม่สนใจ กลับไป ปลูกเอาพันธุ์พืชที่มีรสขม ผลที่ออกมาก็จะต้องขมตามกฎของธรรมชาติ ถ้าเราต้องการผลไม้ที่มีรสหวาน เราก็จะต้องเลือกปลูกและบํารุงรักษาพันธุ์หวานให้ถูกต้องตรงกับชนิดที่เราต้อง การสวดมนต์อ้อนวอน ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อมุ่งหวังอภินิหาร เป็นเพียงการหลอกตนเองเท่านั้น คนเราจะต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติและมีชีวิตอยู่ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ ดังนั้นเราจึงจําเป็นต้องระมัดระวังการกระทําของเราเอง ทั้งนี้เพราะการกระทําของเรานั้นก็คือชนิดของเมล็ดพันธุ์พืชที่เราได้ปลูกลงไป ซึ่งจะส่งผลให้เราได้เก็บเกี่ยวผลที่หวานหรือขม ย่อมแล้วแต่ชนิดและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์พืช
การกระทําของเรานั้นทําได้ 3 ทางคือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผู้ที่ได้เรียนรู้ในการสังเกตดูตนเองจะทราบได้ทันทีว่าการกระทําทางใจเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด เพราะว่าการกระทําทางใจนั้นเป็นเสมือนเมล็ดพืช ที่จะก่อให้เกิดผลต่อไป การกระทําทางกายและการกระทําทางวาจาเป็นเพียงสิ่งที่สะท้อนออกมาจากการกระทําทางใจ เป็นมาตรวัดความเข้มข้นของการกระทําทางใจ เพราะการกระทําใดๆ จะมีจุดเริ่มต้นที่ใจก่อน แล้วจึงปรากฏให้เห็นเป็นการกระทําทางกายหรือวาจา พระพุทธองค์ได้ตรัสว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นที่ใจก่อน
จิตเป็นปัจจัยของทุกสิ่ง
จิตสำคัญที่สุด ทุกอย่างล้วนเป็นผลผลิตจากจิต
ด้วยจิตที่ไม่บริสุทธิ์
การกระทำทางกายหรือทางวาจาใดๆของท่าน
ก็จะส่งผลให้เกิดความทุกข์ตามมา
ประดุจกงล้อเกวียนที่หมุนติดตามโคลากเกวียน
ด้วยจิตอันบริสุทธิ์
การกระทำทางกายหรือทางวาจาใดๆของท่าน
ก็จะส่งผลให้เกิดความสุขตามมา
ประดุจดั่งเงาที่ติดตามตัวท่านไปเสมอ
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงจะต้องรู้ว่าจิตคืออะไร และทํางานอย่างไร ท่านได้เริ่มศึกษาเรื่องนี้ด้วยการฝึกปฏิบัติ และเมื่อได้ปฏิบัติไปสักพักหนึ่งแล้ว ท่านจะเริ่มแลเห็นว่า จิตนั้นประกอบ ไปด้วยส่วนต่างๆ สี่ส่วนด้วยกัน
> ส่วนแรกเรียกว่า วิญญาณ คือส่วนที่เป็นความรู้แจ้งในอารมณ์ อวัยวะที่รับความรู้สึกในร่างกายจะไม่มีชีวิต หากไม่มีวิญญาณมาเชื่อมโยง ตัวอย่างเช่น ขณะที่เรากําลังเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่อย่างตั้งอกตั้งใจ อาจมีเสียงที่ดังขึ้นมาแล้วเราไม่ได้ยินเสียง หรือแม้ได้ยินก็ไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะวิญญาณหรือการรับรู้ของเรากําลังอยู่ที่ตาในขณะนั้น หน้าที่ในส่วนนี้ของจิตจะเพียงแค่รับรู้ โดยไม่แยกแยะรายละเอียดใดๆ เมื่อมีเสียงมากระทบที่หู วิญญาณ ก็จะเพียงแค่รับรู้ว่ามีเสียงมากระทบ
แล้วส่วนต่อไปของจิตก็จะเริ่มทํางาน ส่วนนี้เรียกว่า สัญญา คือการจําได้หมายรู้ในอารมณ์ เมื่อมีเสียงมากระทบหู ด้วยความทรงจําและประสบการณ์เก่าๆ เราก็จะรับรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นเสียง..เป็นคําพูด..เป็นคําสรรเสริญ..เป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นเสียง..เป็นคําพูด..ที่เป็นคําด่าทอ..เป็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเราจะประเมิน ว่าดีหรือไม่ดี โดยใช้ประสบการณ์ที่เราเคยได้รับมา
จากนั้นส่วนที่สามของจิตก็จะเริ่มทํางานในทันที เรียกว่า เวทนา เป็นส่วนรับความรู้สึก เมื่อมีเสียงมากระทบ ร่างกายจะรับความรู้สึก เมื่อสัญญาทางจิตรับรู้และประเมินเสียงนั้น ความรู้สึกก็จะออกมาว่าดีหรือไม่ดี ตามการประเมินนั้น ตัวอย่างเช่น มีเสียงมากระทบ..เป็นคําพูด..คําสรรเสริญ..เป็นสิ่งที่ดี เราก็จะเกิดความรู้สึกเป็นสุขไปทั่วร่างกาย แต่ถ้าหากมีเสียงมากระทบ เป็นคําพูด..คําด่าทอ..เป็นสิ่งที่ไม่ดี เราก็จะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นทั่วร่างกาย ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในร่างกาย แต่ใจจะเป็นผู้รับความรู้สึกนั้น หน้าที่ของจิตส่วนที่รับความรู้สึกนี้เรียกว่า เวทนา
ต่อไปส่วนที่สี่ของจิตก็จะเริ่มทํางาน เรียกว่า สังขาร เป็นส่วนที่ปรุงแต่ง เมื่อเสียงมากระทบหู..เป็นคําพูด..เป็นคําสรรเสริญ..ดี..รู้สึกเป็นสุข เราก็เริ่มชอบมัน “แหม! คําสรรเสริญนี้ไพเราะ ฉันอยากฟังอีก” หรือมิเช่นนั้น เมื่อมีเสียงมากระทบหู..เป็นคําพูด..เป็นคําด่าทอ..ไม่ดี..รู้สึกเป็นทุกข์ และเราก็จะเริ่มไม่ชอบ “ฉันทนฟังคําหยาบคายพวกนี้ไม่ได้อีกแล้ว หยุดเสียที!” ทุกทวาร อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ล้วนมีกระบวนการ การรับรู้อย่างเดียวกัน ในทํานองเดียวกันเมื่อมีความคิดหรือจินตนาการมากระทบใจ ความรู้สึกก็จะเกิดขึ้นกับร่างกายเหมือนกัน ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ และคนเราก็จะมีการปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ ซึ่งความรู้สึกชอบที่เกิดขึ้นชั่วครู่นั้นก็จะพัฒนาเป็นโลภะ และความไม่ชอบก็จะพัฒนาเป็นโทสะ ถึงขั้นนี้คนเราก็จะเริ่มผูกปมเงื่อนขึ้นภายในตนเองแล้ว
นี่คือเมล็ดพันธุ์ที่แท้จริงที่จะให้ผล การกระทําที่จะทําให้เกิดผลก็คือ สังขาร เป็นการปรุงแต่งของใจ คนเราปลูกเมล็ดพันธุ์พืชด้วยการปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ มีโลภะและโทสะอยู่ทุกขณะ การกระทําเช่นนี้ทําให้ตัวเราเองมีความทุกข์
การปรุงแต่งมีต่างๆกัน มีทั้งที่ไม่ฝังใจนัก ซึ่งง่ายต่อการที่จะขจัดออกไปได้ทันที มีทั้งการปรุงแต่งที่ฝังใจมากขึ้นมาอีกหน่อย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้างที่จะขจัดออกไป และมีการปรุงแต่งที่ฝังลงในส่วนลึก การขจัดออกไปก็ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ในแต่ละคืนหากเราจะพยายามนึกถึง สังขาร หรือการปรุงแต่งต่างๆที่เราสร้างขึ้นมาตลอดทั้งวัน เราอาจจะนึกได้แต่เพียง หนึ่งหรือสองเรื่องที่ฝังใจมากที่สุดในวันนั้น เช่นเดียวกัน ในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี เราก็อาจจะจําการปรุงแต่งหรือสังขารได้เพียงหนึ่งหรือสองเรื่องที่ฝังใจเรามากที่สุดในช่วงระยะเวลานั้น และไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ในบั้นปลายสุดของชีวิต สังขาร หรือการปรุงแต่งที่ฝังอยู่ในส่วนลึกที่สุดก็จะปรากฏขึ้นมาในจิต อีกครั้งหนึ่ง และชีวิตในโลกหน้าก็จะเริ่มต้นด้วยจิตที่มีธรรมชาติ เหมือนเดิมนี้ มีคุณภาพดังเดิม ไม่ว่าจะหวานหรือขม จึงเท่ากับ เราสร้างอนาคตของเราด้วยการกระทําของเราเอง
การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจะสอนให้รู้ถึงศิลปะของการตาย เราจะตายอย่างสงบได้อย่างไร เราจะได้เรียนรู้ศิลปะของการตาย ด้วยการเรียนรู้ถึงศิลปะของการมีชีวิตอยู่ ทําอย่างไรจึงจะเป็นนายเหนือปัจจุบันได้ ทําอย่างไรจึงจะไม่ก่อให้เกิดสังขาร ในขณะปัจจุบัน ทําอย่างไรจึงจะมีชีวิตที่มีความสุขอยู่ได้ ณ ที่นี้ ในขณะนี้ ถ้าทําปัจจุบันให้ดีแล้ว เราก็ไม่ต้องกังวลถึงอนาคต ซึ่งเป็นแต่เพียงผลผลิตของปัจจุบัน
เทคนิคในการปฏิบัตินี้มีอยู่ 2 ประการ
ประการแรก คือการทําลายสิ่งกีดขวางระหว่างจิตสํานึก กับจิตไร้สํานึก หรือภวังคจิต โดยปกติจิตสํานึกจะไม่รู้ว่าจิตไร้สํานึกกําลังรับความรู้สึกอะไรอยู่ การปรุงแต่งต่างๆเกิดขึ้นในจิตไร้สํานึกตลอดเวลา แต่ความไม่รู้หรืออวิชชาได้ปิดบังเอาไว้ เมื่อการปรุงแต่งเหล่านี้มาปรากฏขึ้นในจิตสํานึก ความเข้มข้นก็มักจะมีมาก จนอาจมีอํานาจเหนือจิตใจได้โดยง่าย ด้วยวิธีปฏิบัติแบบนี้ จะช่วยพัฒนาจิตให้มีสติระลึกรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ความไม่รู้หรืออวิชชาก็จะถูกขจัดออกไป
ประการที่สอง คืออุเบกขา หรือการวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง การที่เรามีสติระลึกรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น แล้วไม่ไปปรุงแต่ง ไม่ผูกปมโลภะ หรือโทสะ ขึ้นมาใหม่ เราย่อมจะไม่สร้างความทุกข์ให้ตนเอง
ขณะที่ท่านนั่งปฏิบัติอยู่ ในตอนเริ่มต้นท่านอาจจะใช้เวลาส่วนใหญ่ปรุงแต่งความรู้สึกที่เกิดขึ้น ให้เป็นไปในทางที่ชอบหรือไม่ชอบ แต่ก็จะมีอยู่ระยะหนึ่งที่ท่านจะรู้สึกวางใจเฉยได้ แม้ว่าจะกําลังมีความเจ็บปวดมาก ช่วงเวลาเหล่านั้น จะเป็นช่วงที่มีพลังมาก ในการเปลี่ยนแปลงนิสัยของจิต แล้วท่านจะค่อยๆก้าวไปถึงขั้นที่ท่านจะยิ้มให้กับความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ด้วยความเข้าใจว่า ความรู้สึกเหล่านั้นล้วนเป็นอนิจจัง ซึ่งจะต้องผ่านไป เปลี่ยนแปลงไป
เพื่อที่จะไปให้ถึงขั้นนี้ได้ ท่านจะต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่มีใครสามารถจะปฏิบัติแทนท่านได้ นับว่าเป็นสิ่งที่ดีแล้วที่ท่านได้เริ่มเดินตามวิถีทางนี้ จงเดินต่อไปทีละก้าว ทีละก้าว เพื่อไปสู่ความหลุดพ้นของตัวท่านเอง
ขอให้ทุกท่านจงประสบกับความสุขที่แท้จริง
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน